"สงครามการค้า" เดือดหนักแต่ "บริษัทอเมริกัน" ยังไม่ต้องการกลับบ้าน - Forbes Thailand

"สงครามการค้า" เดือดหนักแต่ "บริษัทอเมริกัน" ยังไม่ต้องการกลับบ้าน

สงครามการค้า เดือดเมื่อสัปดาห์ก่อน Donald Trump ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา กดดันบรรดาบริษัทอเมริกันอีกครั้งให้พวกเขายอมถอนการลงทุนในจีน และไปเปิดโรงงานในประเทศอื่นแทน หรือจะให้ดีที่สุด ควรจะกลับมาเปิดโรงงานที่สหรัฐอเมริกา

Trump ยังขู่ด้วยว่า เขาจะใช้อำนาจตามกฎหมายภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระดับสากล (เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตั้งแต่ปี 1976 เพื่อใช้คว่ำบาตรเกาหลีเหนือกับอิหร่าน) มาใช้กับกรณีนี้ด้วย โดยผลของมันคือการสั่งให้บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ หยุดการทำธุรกิจที่จีน

คำขู่และกดดันของ Trump ต่อบริษัทอเมริกันมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศจีน แม้จะแสดงความกังวลตามหน้าสื่อต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับบ้านตามที่ Trump ต้องการ

...waiting for Gist...

จากผลการสำรวจของ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน หรือ USCBC เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 พบว่า บริษัทอเมริกันที่เตรียมจะย้ายฐานผลิตออกจากจีนมีเพียง 13% ในจำนวนนี้ตอบว่าตนจะย้ายกลับไปที่สหรัฐฯ เพียง 3% เท่านั้น ที่เหลืออีก 10% จะย้ายไปยังประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าก็ทำให้สมาชิก USCBC 30% ชะลอแผนการลงทุนเพิ่มเติมในจีนออกไปก่อน

 

ตลาดจีนใหญ่เกินจะทิ้งไป

เหตุผลที่บริษัทเหล่านี้ยังไม่ตัดสินใจที่จะตัดขาดกับจีน เป็นเพราะตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่พวกเขาให้ความสำคัญ โดยสมาชิก USCBC 68% ยังจัดลำดับให้จีนเป็นหนึ่งใน Top5 ของตลาดที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด แม้จะลดลงจากตัวเลข 78% ที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2015 ก่อนที่สงครามการค้าจะเกิดขึ้นก็ตาม

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของประเด็นนี้คือ General Motors ไม้เบื่อไม้เมาของ Trump โดย Lu Xiang ผู้เชี่ยวชาญด้านสหรัฐอเมริกาที่ Chinese Academy of Social Science พบว่า GM ขายรถยนต์ในจีนได้ถึงเกือบ 4 ล้านคันต่อปี ซึ่งมากกว่ายอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯเสียอีก

โรงงานรถยนต์ของ GM ใน Shenyang ประเทศจีน (PHOTO CREDIT: gmauthority.com)

“...สถานการณ์นี้อธิบายได้ง่ายมาก ตลาดรถยนต์ในจีนแข่งขันกันสูง ดังนั้นมาร์เก็ตแชร์ของผู้ผลิตรถยนต์จะถูกกินสัดส่วนโดยผู้ผลิตรายอื่นได้อย่างรวดเร็ว แต่รายได้ที่สูญเสียไปของ GM ไม่อาจกลับคืนมาได้” Xiang กล่าว

ด้วยจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน ซึ่ง 400 ล้านคนในจำนวนนี้คือชนชั้นกลางผู้มีกำลังซื้อ ตลาดจีนจึงเป็นประเทศที่ปฏิเสธได้ยาก

อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น Boeing เพิ่งจะเปิดโรงงานผลิตเครื่องบิน 737 Max แห่งใหม่ในจีนเมื่อปีก่อน บริษัทนี้ทำรายได้ในจีนปีละมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯและการแข่งขันกับคู่แข่งหลักอย่าง Airbus ก็สูงเกินกว่าจะขยับออกจากประเทศจีน

แล้วผลของกำแพงภาษี 25% ที่ Trump เปิดศึกกับจีนไม่มีผลอะไรกับพวกเขางั้นหรือ? บริษัทใน USCBC 32% มองว่า ภาษีไม่ได้ทำให้มาร์จิ้นของบริษัทลดลง และ 46% มองว่า การมีฐานผลิตที่จีนยังทำกำไรได้ดีกว่าการเลือกส่งออกไปสหรัฐฯ จากประเทศต้นทางอื่นๆ ส่วนที่เหลือ 22% คือกลุ่มที่เห็นว่ากำแพงภาษีทำให้กำไรของบริษัทลดลงจริง

 

แหล่งผลิตในจีนยังตอบโจทย์มากกว่า

นอกจากตลาดขนาดใหญ่ที่ดึงดูดใจบริษัทอเมริกันแล้ว พวกเขายังถอนตัวยากเพราะบางบริษัทมีการลงทุนซัพพลายเชนไปมากแล้ว และจีนยังเหนือกว่าในการสร้างคลัสเตอร์การผลิต มีแหล่งแรงงานคุณภาพ ตอบสนองอุตสาหกรรมไฮเทคได้ มีท่าเรือจนถึงระบบไฟฟ้าพร้อมสรรพ

ตัวอย่างบริษัทที่ถอนตัวยากเช่น Apple ผลิตภัณฑ์หัวใจหลักของบริษัทอย่าง iPhone นั้นผลิตโดย Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ซึ่งมีโรงงาน 29 แห่งอยู่ใน Zhengzhou และถ้ารวมทั้งบริษัท แหล่งผลิตของซัพพลายเออร์ของ Apple 50% อยู่ในประเทศจีน

โรงงาน Foxconn บริษัทไต้หวันแห่งนี้มีแหล่งผลิตหลักในจีน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญให้กับ Apple (PHOTO CREDIT: STR / AFP)

การย้ายฐานผลิตไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการผลิตเหล่านี้ผูกพันกับซัพพลายเออร์ แม้แต่ Apple เองก็เคยเจอทางตันในการกลับไปเปิดแหล่งผลิตที่สหรัฐอเมริกาด้วยเหตุว่า พวกเขาหาซัพพลายเออร์ผู้ผลิตน็อตสกรูด้วยปริมาณมากๆ ในระยะเวลาอันสั้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม Apple มีแนวคิดที่จะย้ายฐานผลิต 15-30% ออกจากจีนเพื่อแก้ปัญหากำแพงภาษี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์หลักว่าจะสามารถย้ายแหล่งผลิตไปที่อื่น เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้หรือไม่

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ถักทอจุดแข็งของตัวเอง โดย Joerg Wuttke ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปแห่งประเทศจีน กล่าวว่า จุดแข็งของจีนคือคลัสเตอร์ ในการผลิต เช่น คลัสเตอร์เคมิคอลในมณฑล Jiangsu หรือ คลัสเตอร์ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในมณฑล Guangdong

Wuttke มองว่า หากเป็นโรงงานผลิตสินค้าที่ไม่ซับซ้อน เช่น ของเล่น เสื้อผ้า การย้ายฐานผลิตอาจไม่ยาก แต่เมื่อผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยซัพพลายเชน คลัสเตอร์เหล่านี้ไม่สามารถย้ายตามไปได้ทุกที่

 

ภูมิภาค SEA รับส้มหล่นจาก 'สงครามการค้า'

แม้ว่าการย้ายฐานผลิตจากจีนจะทำได้ยาก แม้ว่าตลาดจีนจะหอมหวาน แม้หลายบริษัทจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี แต่ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสงครามการค้าย่อมเลี่ยงไม่ได้ และบางบริษัทกำลังหาทางกระจายความเสี่ยงนั้น

ประเทศที่ได้รับการพูดถึงความเป็นไปได้ในการย้ายฐานผลิตออกจากจีนมากที่สุดคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งบริษัทบางส่วนย้ายฐานไปในประเทศเหล่านี้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะ เวียดนาม ไตรมาส 2 ของปี 2019 เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตขึ้น 6.7% เดินนำเศรษฐกิจจีนที่โต 6.2% ไปเรียบร้อยแล้ว และใบอนุญาตการลงทุนที่ออกให้บริษัทต่างชาติในเวียดนามช่วงครึ่งปีแรกปี 2019 ก็โตขึ้น 26% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

Google ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมือถือ Pixel ไปเวียดนามแล้ว
ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจาก Apple แล้ว ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่าง HP และ Dell ก็กำลังพิจารณาที่จะย้ายซัพพลายเชน 30% ของบริษัทออกจากจีน ขณะที่ Google ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมือถือ Pixel ไปเวียดนามแล้วโดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลในเดือนตุลาคมนี้ (Pixel เป็นมือถือยอดขายอันดับ 5 ในสหรัฐฯ) ฟาก Ted Decker รองประธานกรรมการบริหาร Home Depot ถึงกับกล่าวว่า "ด้วยเรื่องอัตรากำไร ผมไม่เห็นซัพพลายเออร์แม้แต่เจ้าเดียวที่ไม่คิดจะย้ายส่วนใดสักส่วนหนึ่งของการผลิตไปนอกประเทศจีน เรามีซัพพลายเออร์ที่ย้ายการผลิตไปไต้หวัน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย หรือกระทั่งกลับมาสหรัฐฯ" ไม่แน่ว่าคำตอบแบบ 'ปากแข็ง' ของหลายบริษัทอาจต้องรอผลลัพธ์ขั้นเต็มของ สงครามการค้า Donald Trump ก่อน หลังจากเริ่มใช้กำแพงภาษี 10-15% รอบแรกแล้วเมื่อวานนี้ และจะมีอีกระลอกหนึ่งในวันที่ 15 ธันวาคม 2019   ที่มา