ครอบครัวของ Anders Holch Povlsen อยู่ระหว่างท่องเที่ยวช่วงวันหยุดอีสเตอร์ในศรีลังกาเมื่อเกิด เหตุลอบวางระเบิด โบสถ์และโรงแรมรวม 8 แห่งเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 290 คน ซึ่งทายาท 3 ใน 4 คนของ Povlsen นักธุรกิจและผู้ร่ำรวยที่สุดของเดนมาร์กคือหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตครั้งนี้
Anders Holch Povlsen วัย 46 ปีคือมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของเดนมาร์กตามการจัดอันดับของ Forbes โดยมีมูลค่าความมั่งคั่งที่ 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเขาเป็นเจ้าของเชนร้านค้าเสื้อผ้า
Bestseller และเว็บไซต์ค้าเสื้อผ้าออนไลน์
ASOS ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน รวมถึงเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดในสก็อตแลนด์
Jesper Stubkier ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของ Bestseller ยืนยันกับสำนักข่าว Press Association วันนี้ว่า
ทายาท 3 ใน 4 คนของ Povlsen ได้เสียชีวิตระหว่าง เหตุลอบวางระเบิด ที่ศรีลังกา “เรายังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมและเราวอนขอความเป็นส่วนตัวให้กับครอบครัวในระหว่างนี้”
ทั้งนี้ ครอบครัว Povlsen อยู่ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดอีสเตอร์ และยังไม่มีการยืนยันชื่อของทายาทที่เสียชีวิต รวมถึงจุดที่เกิดเหตุเป็นจุดใดใน 8 แห่งก่อการร้ายในศรีลังกา
Povlsen นั้นเป็นเศรษฐีจากเสื้อผ้ารีเทลแต่เขายังเป็นนักสะสมอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยเขามีพอร์ตอสังหาฯ ไม่ต่ำกว่า 12 แห่งในสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ปราสาท Aldourie ที่เขาครอบครองผ่านบริษัทชื่อ
Wildland
เศรษฐีชาวเดนมาร์กรายนี้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าการเข้าซื้อสถานที่เหล่านี้เป็นโครงการอนุรักษ์ส่วนตัว “นี่คือโครงการที่เรารู้ดีว่าเราไม่อาจตระหนักถึงคุณค่าของมันได้ในช่วงชีวิตของเราเอง แต่จะเป็นลูกหลานของเราที่เก็บเกี่ยวผลที่งอกเงยขึ้นมา รวมถึงคนรุ่นหลังที่เข้ามาเยี่ยมชมและรู้สึกเช่นเดียวกับเรา นั่นคือมีความหลงใหลในแถบถิ่น Highland ของสก็อตแลนด์” Anders Holch Povlsen และ Anne ผู้เป็นภรรยา ระบุในเว็บไซต์ของ Wildland
สำหรับเหตุการณ์ก่อการร้ายในศรีลังกาเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2019 โดยมีการวางระเบิดทั้งหมด 8 จุด เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 8.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาทำพิธีกรรมทางศาสนาในวันอีสเตอร์ของชาวคริสต์
CNN รายงานการระเบิดครั้งนี้ว่าเป็นการระเบิดพลีชีพ โดยเกิดขึ้นก่อน 6 จุดในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ โบสถ์ 3 แห่งในเมืองหลวง Colombo ตามด้วยการระเบิดในโรงแรมหรูทั้ง Shangri-La, Kingsbury และ Cinnamon Grand Hotels จากนั้นตำรวจเร่งสืบหาจุดวางระเบิดต่อไปแต่ไม่สามารถยับยั้งการระเบิดในอีก 2 จุดที่เหลือได้ จนถึงขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตแล้ว 290 ราย โดย 35 รายในจำนวนดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ราย ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 500 ราย
เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับความผิดพลาดในการป้องกัน
CNN รายงานด้วยว่า
Rajitha Senaratne โฆษกรัฐบาลศรีลังกา
ยอมรับว่ามีการเตือนหลายครั้งในช่วงเวลาหลายวันก่อนหน้าเหตุระเบิด โดย CNN รายงานข้อมูลว่ามีการเตือนอย่างน้อยหนึ่งครั้งที่มาจากกลุ่มอิสลาม Nations Thawahid Jaman (NJT) ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักไม่มากนัก ทั้งนี้ Seneratne เชื่อว่าการก่อการร้ายครั้งนี้ไม่น่าจะลงมือได้ด้วยกลุ่มท้องถิ่นเท่านั้น แต่น่าจะได้รับการช่วยเหลือจากผู้ก่อการร้ายระดับสากล
"เราเห็นสัญญาณเตือนและเห็นรายละเอียดแล้ว ในฐานะรัฐบาล เราต้องขอโทษอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด" Senaratne กล่าว
ศรีลังกายังคงหวาดผวาต่อเหตุระเบิดที่อาจมีมากกว่านี้ เนื่องจากเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบระเบิดแสวงเครื่องบริเวณใกล้กับสนามบิน Bandaranaike ซึ่งได้ปลดชนวนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันนี้ ตำรวจได้พบตัวจุดระเบิดถึง 87 ชิ้นในสถานีรถประจำทางหลักของกรุง Colombo
ศรีลังกานั้นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา การก่อเหตุครั้งนี้นับเป็นเหตุเศร้าสลดที่ร้ายแรงที่สุดนับจากสงครามกลางเมืองของศรีลังกาซึ่งเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนของชาวทมิฬ (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู) หลังต่อสู้มานานกว่า 26 ปี สงครามครั้งนั้นจบลงเมื่อปี 2009 ด้วยการยอมแพ้ของกลุ่มทมิฬ มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 7 หมื่นคน
อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนถึงความรุนแรงครั้งใหม่มีให้เห็นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 เมื่อชาวสิงหลซึ่งนับถือศาสนาพุทธเข้าโจมตีมัสยิดและทรัพย์สินของชาวมุสลิม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ทำลายบ้านเรือนและมัสยิดไป 87 แห่ง
ทั้งนี้ ศรีลังกามีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล 74% ชาวทมิฬ 18% ชาวมัวร์ 7% ชาวศรีลังกานับถือศาสนาพุทธเถรวาท 70% ฮินดู 13% อิสลาม 10% และคริสต์ 7% โดยชาวคริสต์ในศรีลังกามีประมาณ 1.5 ล้านคนและส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาธอลิก
ที่มา