ซีอีโอ Softbank รับการตัดสินใจใน WeWork ของตนผิดพลาด หลังบริษัทขาดทุนครั้งแรกใน 14 ปี - Forbes Thailand

ซีอีโอ Softbank รับการตัดสินใจใน WeWork ของตนผิดพลาด หลังบริษัทขาดทุนครั้งแรกใน 14 ปี

ซีอีโอ Softbank Group เผยไตรมาสนี้บริษัทขาดทุนกว่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมยอมรับ วิจารณญาณของตนใน WeWork นั้นผิดพลาด

Masayoshi Son ซีอีโอ Softbank Group ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น และยังมุ่งลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี กล่าวยอมรับว่า บริษัทได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน WeWork และ Uber Technologies และการตัดสินใจใน WeWork ของตนนั้นมีความผิดพลาด

โดยนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นรายงานว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ที่ขาดทุนไปราว 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นเป็นไตรมาสแรกที่ขาดทุนในรอบ 14 ปี ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังจาก Silicon Valley ที่มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจจะไปได้สวยอย่าง WeWork ถึง 4.97 แสนล้านเยน หรือราว 4.6 พันล้านเหรียญ

การขาดทุนครั้งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงวิธีการทำข้อตกลงของมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Softbank อย่าง Son เช่นเดียวกับการที่ก่อนหน้านี้เขาพยายามจะนำอภิมหากองทุน 1 แสนล้านเหรียญอย่าง Vision Fund ของเขาเข้าระดมทุนรอบใหม่ ขณะที่การลงทุนในธุรกิจยานพาหนะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ Softbank โดยเป็นรายได้ส่วนใหญ่ในรายได้ 1.4 หมื่นล้านเหรียญของบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ปัจจุบัน Uber และ WeWork ถูกประมาณการว่ามูลค่าของบริษัทลดลง แต่ครั้งหนึ่งทั้งสองบริษัทเคยเป็นดาวที่แสนเจิดจรัสในหมู่บริษัทที่ Softbank ลงทุน จนสามารถยกระดับมุมมองการลงทุนในพอร์ตของ Vision Fund ว่าเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงสูงที่ให้ความสำคัญในการทำกำไรมากกว่า

สำหรับการแถลงผลประกอบการที่ผ่านมา Son ยอมรับถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขาการตัดสินใจของผมมีปัญหา นั่นคือสิ่งที่ผมจะต้องไตร่ตรอง

ผลการดำเนินงานไตรมาสนี้ของ SoftBank (กรกฎาคม-กันยายน) ขาดทุนไป 7.04 แสนล้านเยน (6.5 พันล้านเหรียญ) มากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายคนประมาณการไว้ 2.30 แสนล้านเยน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนบริษัทสามารถทำกำไรได้ 7.05 แสนล้านเยน

Masayoshi Son ซีอีโอของ Softbank Group (ภาพจาก AFP)

ส่วน Vision Fund ซึ่งเป็นแหล่งรวมการลงทุนในสตาร์ทอัพแหล่งใหญ่ของโลก ในไตรมาสล่าสุดนี้ขาดทุนไป 9.70 แสนล้านเยน อย่างไรก็ตาม Softbank ระบุว่า 88 บริษัทที่ Vision Fund ลงทุนไปนั้นมีมูลค่ารวมกัน 7.76 หมื่นล้านเหรียญแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ลงทุนไป

ขณะที่สตาร์ทอัพโคเวิร์กกิ้งสเปซอย่าง WeWork มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 7.8 พันล้านเหรียญในสิ้นเดือนกันยายน ลดลงอย่างมากจากเดือนมกราคมที่มีมูลค่าอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญ โดยเมื่อเดือนกันยายนบริษัทต้องพบกระแสวิพากษ์วิจารณ์รอบด้าน รวมถึงความกังวลในเรื่องการบริหารของบริษัท นอกจากนี้ นักลงทุนยังตั้งคำถามถึงอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ของ Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ WeWork

ในปลายเดือนที่ผ่านมา Softbank ได้อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือ WeWork ถึง 9.5 พันล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นเงินเพิ่มทุน 1.5 พันล้านเหรียญ, ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 3 พันล้านเหรียญ และให้กู้อีก 5 พันล้านเหรียญ โดย Softbank จะเข้าถือหุ้นใน WeWork ถึง 80% ขณะที่ Neumann จะต้องลงจากตำแหน่งประธานบอร์ดและเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ โดยได้รับเงินชดเชย 1.7 พันล้านเหรียญ และให้ผู้บริหารจาก Softbank อย่าง Marcelo Claure ดำรงตำแหน่งแทน

แต่หลังจากที่ผลประกอบการบริษัทขาดทุนมหาศาล Son ระบุว่าการตัดสินใจของผมเกี่ยวกับ WeWork ไม่ถูกต้องในหลายๆ ด้านและว่าผมประเมินแต่ด้านที่ดีของ Adam Neumann ผมควรต้องรู้ดีกว่านี้

ผมแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นด้านที่ไม่ดีของ Adam Neumann อย่างเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งทำให้ผมได้บทเรียนครั้งใหญ่จากประสบการณ์ครั้งนี้ Son กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม แม้ Softbank จะอยู่ในทะเลที่เจอพายุรุนแรง แต่ WeWork ไม่ใช่เรือที่กำลังจะจม

Son กล่าวว่า เขามีแผนฟื้นฟูง่ายๆ สำหรับ WeWork ที่ตอนนี้เป็นของ Softbank แล้ว ซึ่งรวมไปถึงการที่ WeWork ต้องหยุดสร้างออฟฟิศใหม่เป็นเวลา 3-4 ปี เพราะการก่อสร้างใหม่ทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น และตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรของ WeWork ออกไป "จากแผนการฟื้นฟูนี้ เราเชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานของ WeWork ได้อย่างมาก"

กระนั้น Atyul Goyal นักวิเคราะห์ระดับสูงจาก Jefferies Group กล่าวว่าการตัดสินใจใน WeWork ของ Son ทำให้ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับกลยุทธ์ของเขาซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ หากมีการลงทุนที่ล้มเหลวเกิดขึ้นอีกในอนาคต เขามีแผนจะจัดการปัญหานี้อย่างไร?”

  ที่มา  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine