นวัตกรรมทางเทคนิคคือคุณภาพที่เป็นหัวใจสำคัญแห่งปรัชญาของ แฟรงค์ มุลเลอร์ (Franck Muller) เสมอ และ แฟรงค์ มุลเลอร์ ได้แสดงออกอย่างชัดเจน โดยไม่ได้ปรากฏแต่เพียงภายในเรือนเวลาชั้นสูงและเรือนเวลาสลับซับซ้อนระดับ แกรนด์ คอมพลิเคชัน (grand complication) ของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสรรค์ตัวเรือนและหน้าปัด ตลอดจนเทคนิคในการประดับตกแต่งอัญมณีและวัสดุที่นำมาใช้ในเรือนเวลา ทั้งยังแสดงออกอย่างสวยงามผ่านตัวเรือนนาฬิกาข้อมือรูปทรงพิเศษรุ่นแรกๆ อย่าง ซินทรี เคอร์เว็กซ์ (Cintrée Curvex) ที่เผยโฉมในปี ค.ศ. 1987 และยังคงสืบทอดสู่วิวัฒนาการล่าสุดของตัวเรือน ลอง ไอส์แลนด์ (Long Island)
ลอง ไอส์แลนด์ เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ในฐานะเรือนเวลาแสดงเวลาแบบสามเข็มชี้ ด้วยความสง่างามของตัวเรือนรูปทรงสี่เหลี่ยมมนที่มีรูปทรงของขอบโค้งอันแสนอ่อนโยน หูตัวเรือนแบบสั้นและตัวเลขแสดงเวลาโค้งไปตามงานออกแบบของตัวเรือนนั้นได้อุทิศให้กับยุคอาร์ต เดโค (Art Deco) และในไม่ช้าผลงานนี้ก็กลายเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากท่ามกลางหมู่นักสะสม
โครงสร้างใหม่อันซับซ้อน
ในปีนี้ แฟรงค์ มุลเลอร์ ภูมิใจนำเสนอวิวัฒนาการอันทันสมัยของตัวเรือน ลอง ไอส์แลนด์ ด้วยงานออกแบบใหม่ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งโครงร่างดั้งเดิม ที่ได้รับการออกแบบและคิดค้นแนวคิดขึ้นโดย วาร์ทัน เซอร์เมกส์ (Vartan Sirmakes) ผู้ร่วมก่อตั้งของทางแบรนด์ ขณะที่แทรกไว้ซึ่งความทรงพลังใหม่สู่ตัวเรือนนาฬิกา และเพื่อปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ให้กับ ลอง ไอส์แลนด์ เราจึงจำเป็นต้องถอดรหัสโครงสร้างของงานออกแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งเผยซึ่งสัดส่วนอันประณีตยิ่งขึ้นเพื่อมอบความโดดเด่นให้กับความโค้ง มุมและเส้นสายอันละเอียดอ่อนต่างๆ ของ ลอง ไอส์แลนด์ ได้อย่างแท้จริง
เมื่อเปรียบเทียบกับงานออกแบบของ ลอง ไอส์แลนด์ ดั้งเดิมแล้ว ตัวเรือนใหม่นี้ได้หลอมรวมเข้ากับตัวเรือนด้านในเพิ่มเติม ที่ทำหน้าที่ปกป้องกลไกรูปทรงพิเศษซึ่งขับเคลื่อนการทำงานของนาฬิกา แฟรงค์ มุลเลอร์ ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและช่างนาฬิกาเพียงไม่กี่รายที่สามารถพัฒนากลไก ออกแบบมาอย่างแม่นยำให้รับกับแต่ละตัวเรือนที่มีรูปทรงเฉพาะ เพราะทางแบรนด์ได้ออกแบบ สร้างสรรค์งานด้านวิศวกรรม และผลิตตัวเรือน หน้าปัด ตลอดจนกลไกอย่างอิสระด้วยตนเอง ณ วอทช์แลนด์ (Watchland)
กลไกด้วยรูปทรงพิเศษนี้ยังคงใช้ทุกพื้นที่ทั้งหมดภายในตัวเรือนนาฬิกาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เรือนเวลาเหล่านี้มีความโดดเด่นและดึงดูดสายตามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นความท้าทายในการปรับแต่งงานออกแบบและการสร้างสรรค์เชิงวิศวกรรม โดยตัวเรือนด้านในเพิ่มเติมของนาฬิกาคอลเลกชัน ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น (Long Island Evolution) นี้ได้นำเสนอความปลอดภัยเพิ่มเติม รวมถึงการปกป้องกลไกจากแรงสั่นสะเทือนหรือแรงกระแทก นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างแบบหลายชั้นจึงมอบซึ่งประโยชน์สูงสุดข้อหนึ่ง นั่นคือการช่วยให้กระจกคริสตัลแซฟไฟร์ ทำหน้าที่ปกป้องการแสดงเวลาของนาฬิกาสามารถเชื่อมเข้ากับขอบด้านข้างของหน้าปัดได้โดยไร้สกรูติดตั้งใดๆ ที่มองเห็นได้
ตัวเรือนด้านในอลูมิเนียมยังผ่านกระบวนการชุบอโนไดซ์ด้วยเฉดสีเขียวต้นสน ขณะที่ตัวเรือนด้านนอกทำจากไทเทเนียมผ่านการเคลือบ พีวีดี (PVD) สีดำและตกแต่งด้วยงานขัดแบบซาติน มาพร้อมสายหนังจระเข้หรูหราในเฉดสีดำแบบด้านที่ตกแต่งด้วยด้ายเย็บตะเข็บสีตัดกัน ตลอดจนขอบด้านข้างของสายหนังที่เป็นเฉดสีเขียวต้นสนเดียวกันซึ่งจับคู่เข้ากับตัวเรือน ลอง ไอส์แลนด์ ใหม่ได้อย่างลงตัว สร้างสรรค์เป็นเส้นสายสีเขียวอันต่อเนื่องที่ห้อมล้อมนาฬิกาทั้งเรือนบนทั้งสองด้าน
ความสลับซับซ้อนแบบทริปเปิล จั๊มปิ้ง (Triple Jumping Complication)
แฟรงค์ มุลเลอร์ นำเสนอซึ่งวิธีใหม่ของการแสดงเวลาเสมอ โดยการใช้ทั้งความสลับซับซ้อนที่มีอยู่เดิมไปสู่การพัฒนาเพื่อบรรจบกับมาตรฐานใหม่ๆ ในโลกแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาจักรกล และในปีนี้แบรนด์ได้เผยโฉมอีกหนึ่งความสลับซับซ้อนขั้นสูงในรูปแบบของ ทริปเปิล จั๊มปิ้ง (triple jumping) โดยผ่านการแสดงเวลาด้วยตัวเลขสำหรับทั้งชั่วโมง นาที และวันที่ ซึ่งหลอมรวมอยู่ภายในนาฬิการุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น มาสเตอร์ จั๊มเปอร์ (Long Island Evolution Master Jumper) ขณะที่การแสดงเวลาแบบทริปเปิล จั๊มปิ้ง นั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกของการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูง และมักเชื่อมโยงถึงเพียงเฉพาะกับฟังก์ชันปฏิทินต่างๆ ในเรือนเวลาแสดงปฏิทินถาวรหรือเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ (perpetual calendars) กระนั้น ก็ยังไม่เคยปรากฏซึ่งนาฬิกาภายในเรือนเดียวกันที่มาพร้อมการแสดงด้วยตัวเลขในทั้งสามการแสดง รวมถึงเป็นทั้งฟังก์ชันแสดงเวลาและวันที่ที่ผสมผสานเข้าด้วยกันเช่นนี้
ทั้งยังนับเป็นครั้งแรก ณ แฟรงค์ มุลเลอร์ ที่เราได้เพิ่มกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ด้านใน ณ ระดับเดียวกันกับขอบตัวเรือนด้านใน เพื่อมอบความลุ่มลึกแบบสามมิติให้กับเรือนเวลา นอกจากนั้นยังมีประโยชน์สำหรับองค์ประกอบของตัวอักษรที่ถูกพิมพ์ลงบนองค์ประกอบนี้ เช่นเดียวกับบนกรอบของช่องหน้าต่างทั้งสามช่องที่สามารถผสานสู่หน้าปัดได้โดยตรงอย่างกลมกลืน ทั้งยังช่วยให้สามารถรักษาไว้ซึ่งคุณลักษณะเด่นของกลไกแบบเปลือยโปร่งหรือโอเพนเวิร์ก (open-worked) ขณะที่ยังคงความโดดเด่นของการแสดงด้านเทคนิคต่างๆ บนกลไก ด้วยภาพลักษณ์อันล้ำสมัยทางเทคโนโลยีขั้นสูง
นาฬิกาแสดงเวลาจั๊มปิ้งอาวร์ (Jumping hour) นั้นปรากฏมาแล้วนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่การแสดงด้วยตัวเลขอย่างสมบูรณ์ของเวลาภายในนาฬิกาจักรกลเพิ่งจะเผยโฉมเมื่อเพียงในปี ค.ศ. 2009 สำหรับผลงานรุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น มาสเตอร์ จั๊มเปอร์ นี้ได้ก้าวไปเหนือยิ่งกว่า ด้วยการแสดงแบบจั๊มปิ้งในระยะเท่ากันและจัดวางการแสดงทั้งหมดในแนวตั้งใหม่ โดยมาพร้อมช่องหน้าต่างสามช่องที่จัดเรียงกันในแนวตั้งและอยู่ในบริเวณกลางหน้าปัด ไล่จากการแสดงชั่วโมง ณ ด้านบน การแสดงนาที ณ ศูนย์กลาง และการแสดงวันที่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา หน้าต่างแสดงนาทีและวันที่นั้น แต่ละช่องใช้ดิสก์สองชิ้นแยกกันสำหรับหน่วยสิบและหน่วย และดิสก์ทั้งคู่กระโดดไปทีละตัวเลขบนฐาน 10 ในขณะที่หน้าต่างแสดงชั่วโมงใช้เพียงดิสก์เดียว เพื่อแสดงชั่วโมงต่างๆ นับจาก '1' ถึง '12' สำหรับดิสก์ทั้งห้าชิ้น เช่นเดียวกับเฟืองต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ทั้งหมดยังสามารถมองเห็นได้จากด้านหน้าของนาฬิกา ผ่านสะพานจักรรองรับซึ่งตัดขึ้นรูปอย่างแม่นยำโดยเครื่องจักร
ความท้าทายสูงสุดของ มาสเตอร์ จั๊มเปอร์ คือการมอบพลังงานให้กับการแสดงด้วยตัวเลขเหล่านี้ ที่การส่งถ่ายจังหวะการกระโดดแบบฉับพลันสำหรับชั่วโมงและนาทีนั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการกระโดดหรือจั๊มปิ้งของชั่วโมง และแม้กระทั่งเมื่อสิ้นสุดวันที่การแสดงวันที่จะต้องกระโดดด้วยเช่นกัน และเพื่อให้บรรลุถึงกำลังบิดที่เพียงพอไปตลอดจนถึงสิ้นสุดพลังงานสำรอง เราจึงได้สร้างสรรค์นวัตกรรมของระบบตลับลานคู่ขึ้น ที่ประกอบด้วยตลับลานตัวแรก ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนดิสก์แสดงชั่วโมงและนาที ขณะที่ตลับลานตัวที่สองซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ทำหน้าที่มอบพลังงานให้กับกลไกและดิสก์สองตัวที่เชื่อมโยงกับการแสดงวันที่
บนกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ รายละเอียดของกลไก คาลิเบอร์ เอฟเอ็ม 3100 (Calibre FM 3100) ที่ออกแบบขึ้นเฉพาะสำหรับเรือนเวลานี้ได้ถูกพิมพ์ข้อความไว้เพื่อบ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคนิคของกลไกชุดนี้ ภายใต้วิถีอันสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากสี่ปีเต็มของการพัฒนา กลไกชุดนี้ยังผ่านการตกแต่งด้วยมือ พร้อมด้วยเทคนิคอีกมากมายที่นำมาใช้ในโรงงานการผลิตของเรา เพื่อมอบซึ่งกลไกที่ทั้งสวยงามและน่าทึ่งทางเทคนิค
แกรนด์ ทูร์บิญอง (Grand Tourbillon)
ทูร์บิญอง ถือเป็นงานออกแบบไอคอนิกสูงสุดในโลกของเรือนเวลาชั้นสูง (haute horlogerie) ของวันนี้ และแฟรงค์ มุลเลอร์ ได้สร้างสรรค์ทูร์บิญองหลากหลายประเภทสำหรับติดตั้งภายในนาฬิกาข้อมือมานับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของแบรนด์ โดยเราถือเป็นแบรนด์แรกที่พัฒนาทูร์บิญองหลายแกน (multi-axis tourbillon) ขึ้น และยังครองสถิติสำหรับนาฬิกาข้อมือสลับซับซ้อนสูงสุดเท่าที่เคยสร้างสรรค์มา โดยในวันนี้ กลไก กิกะ ทูร์บิญอง (Giga Tourbillon) ของเรา ซึ่งมีกรงทูร์บิญองขนาด 20 มม. ได้มาปรากฏโฉมในตัวเรือน ลอง ไอส์แลนด์ พร้อมด้วยการตีความใหม่อันเซ็กซี่และทันสมัย ตลอดจนการเคลือบตกแต่งด้วยโทนสีดำทั้งหมดซึ่งจับคู่ได้อย่างลงตัวกับตัวเรือนไทเทเนียม
กรงทูร์บิญองขนาดใหญ่ของ ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น กิกะ ทูร์บิญอง (Long Island Evolution Giga Tourbillon) ได้ครองพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของกลไกทั้งชุด พร้อมด้วยสะพานจักรรองรับแบบสามแฉกที่สะท้อนอย่างใกล้ชิดถึงสะพานจักรต่างๆ ของตลับลานซึ่งทำหน้าที่รองรับเมนสปริงทั้งสี่ตัวไว้ทั้งหมด องค์ประกอบเหล่านี้ได้มอบซึ่งพลังงานสำรองอันยาวนานถึงสี่วัน พร้อมการแสดงพลังงานสำรอง ณ ระหว่างตลับลานต่างๆ ส่วนเข็มชี้เติมด้วยสารเรืองแสง ซูเปอร์-ลูมิโนวา (Super-LumiNova) ที่ทั้งสองเข็มชี้ไปยังชั่วโมงและนาที พร้อมด้วยทูร์บิญองขนาดใหญ่พิเศษซึ่งทำหน้าที่คู่สำหรับเป็นหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีต่อเนื่อง
ความคลาสสิกอันมั่นคง
เพื่อความสมบูรณ์ของคอลเลกชัน เรายังได้สร้างสรรค์นาฬิกาแบบสามเข็มชี้รุ่นที่สามขึ้นซึ่งติดตั้งด้วยกลไกจักรกลไขลานด้วยมือ เอฟเอ็ม 1745 คาลิเบอร์ (FM 1745 calibre) ภายใต้งานออกแบบแบบสเกเลตันอย่างสมบูรณ์ โดยเรือนเวลาอันน่าประทับใจนี้มอบการสำรองพลังงานได้ยาวนานถึงเจ็ดวัน พร้อมการทำงานอย่างแม่นยำด้วยความถี่สม่ำเสมอที่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ในผลงานเรือนเวลารุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น 7 เดย์ส พาวเวอร์ รีเสิร์ฟ (Long Island Evolution 7 Days Power Reserve) ที่ตั้งใจหวนคืนสู่สไตล์คลาสสิกของกลไกนาฬิกาพก แต่ยังคงมอบไว้ซึ่งการปรับโฉมใหม่อย่างเข้มแข็งและชวนหลงใหลซึ่งรับได้อย่างลงตัวกับเอกลักษณ์ 'T' ของตัวเรือน ลอง ไอส์แลนด์ ใหม่
โดยสะพานจักรต่างๆ ของกลไกนี้ผ่านการสลักเสลาแบบสเกเลตันทั้งหมด เพื่อมอบภาพการมองเห็นกลไกได้อย่างชัดเจนสูงสุดผ่านกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ พร้อมด้วยหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีเล็ก ณ ด้านล่างสุดของการแสดง ที่จัดวางไว้อย่างสมดุลและสมบูรณ์แบบเข้ากับเมนสปริงขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือขึ้นไป ส่วนรางเกียร์เฟืองและเกียร์เฟืองไขลานต่างๆ เผยให้มองเห็นได้บางส่วน ทั้งยังสามารถสำรวจความซับซ้อนและสวยงามของกลไกนี้เพิ่มเติมได้ผ่านฝาหลังของนาฬิกา ขณะที่เหนือขึ้นไปจากกลไก เป็นการแสดงด้วยตัวเลขอารบิกบอกชั่วโมงขนาดใหญ่ที่วาดด้วยสารเรืองแสง เพื่อแสดงเวลาได้อย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นได้ในที่มืดด้วยรายละเอียดเรืองแสงของเรือนเวลา
นาฬิกาทั้งสามรุ่นใหม่ของ ลอง ไอส์แลนด์ ล้วนอุทิศให้กับผลงานสร้างสรรค์ ลอง ไอส์แลนด์ แบบดั้งเดิม แต่นำมาแสดงออกด้วยมิติและความสง่างามครั้งใหม่ เช่นเดียวกับงานออกแบบใหม่ของนาฬิกาแสดงเวลาแบบสามเข็มชี้ โดยทุกรุ่นยังได้ร่วมสะท้อนให้เห็นว่า แฟรงค์ มุลเลอร์ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและก้าวไกลยิ่งขึ้นตลอดกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา และพวกเรายังคงเดินหน้าสู่การบรรลุถึงจุดสูงสุดอันยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นต่อไป
เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะเอเชียแปซิฟิก
นาฬิการุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น มีจัดจำหน่ายเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำหรับรุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น 7 เดย์ส พาวเวอร์ รีเสิร์ฟ (Long Island Evolution 7 Days Power Reserve) ทั้งหมด 300 เรือน รุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น มาสเตอร์ จั๊มเปอร์ (Long Island Evolution Master Jumper) 100 เรือน และรุ่น ลอง ไอส์แลนด์ อีโวลูชั่น กิกะ ทูร์บิญอง (Long Island Evolution Giga Tourbillon) 8 เรือน
สามารถรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://franckmuller-asiapacific.com/timepieces/long-island-evolution/?utm_campaign=LongIslandEvolution