(10 เม.ย. 67) รัฐบาลเปิดเผยเงื่อนไขโครงการ Digital Wallet ด้านรายได้ต้องมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท มีเงินได้ไม่เกิน 8.4, แสนบาทต่อปีภาษี ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป โดยมีแหล่งเงิน 3 ส่วน คือ งบประมาณทั้งปี 67-68 และ ธ.ก.ส. คาดเข้าถึงประชาชน 50 ล้านคน แต่ต้องสร้างแอปใหม่ที่ไม่ใช่เป๋าตังคาดเริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4/2567
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 3/2567 ได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าจะเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 5 แสนล้านบาท อีกทั้งเพิ่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง เกษตรกร ฯลฯ โดยจะให้สิทธิแก่ประชาชนรวม 50 ล้านคน
ทั้งนี้ ประเมินว่า โครงการ Digital Wallet จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2 - 1.8% จากกรณีฐาน แต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือน เม.ย. 2567
อย่างไรก็ตาม ยังระบุถึง 3 เหตุผลที่จำเป็นต้องทำโครงการนี้ ได้แก่
1) คาดว่าปี 67 การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 2.7% ต่อปี ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ และไตรมาส 4/66 GDP หดตัว 0.6%
2) มองว่าเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยท้าทายและมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
3) รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ภายใต้วินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
รายละเอียดเบื้องต้นในโครงการ Digital Wallet มีดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 50 ล้านคน ที่มีอายุเกิน 16 ปี และไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีแ รวมถึงมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. ใช้จ่ายในสินค้าทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ 1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
5. การจัดทำระบบ จะจัดทำแอปพลิเคชันใหม่โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App โดยผู้พัฒนา คือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ไม่ใช้แอปฯ เป๋าตัง)
6. ใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท (ธ.ก.ส.)
3) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
7. ไตรมาส 3 ปี 2567 คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วม และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
8. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ Digital Wallet
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังออก 5 มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชู ‘ลดค่าโอนฯ - ค่าจดจำนอง’ เหลือ 0.1% ขยายสิทธิ์ให้กลุ่มราคาไม่เกิน 7 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine