UOB ปรับพอร์ตสินเชื่อเน้นยั่งยืน เปิดผลสำรวจบริษัทไทยเจ็บจากเงินเฟ้อสูง แต่ยังสนใจลงทุนต่างประเทศ - Forbes Thailand

UOB ปรับพอร์ตสินเชื่อเน้นยั่งยืน เปิดผลสำรวจบริษัทไทยเจ็บจากเงินเฟ้อสูง แต่ยังสนใจลงทุนต่างประเทศ

UOB ปรับพอร์ตสินเชื่อเน้นกลุ่ม ASEAN Connect - ฐานยั่งยืน ส่วน SME เริ่มฟื้นคาดปีนี้โต 2 เท่าของ GDP พร้อมเปิดผลสำรวจ 9 ใน 10 บริษัทไทยรับกระทบจากเงินเฟ้อสูงในปี 66 แต่ภายใน 3 ปีนี้ยังสนใจลงทุนต่างประเทศเพื่อขยายตลาดโดยเฉพาะจีน อาเซียน และเวียดนาม


    นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง แต่ทางธนาคารยังดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมในการให้สินเชื่อ รวมถึงจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเมื่อเห็นว่าลูกค้ามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอาจเสนอ ความช่วยเหลือในระยะสั้น ส่งผลให้ฐานลูกค้าในพอร์ตมีการผิดนัดชำระหนี้น้อย

    ทั้งนี้ ยังคงกลยุทธ์การปรับพอร์ตสินเชื่อโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ สินเชื่อด้านความยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จาก ปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ขยายการให้สินเชื่อที่ยั่งยืนเป็นมูลค่า 33,100 ล้านบาท และประมาณ 25% ของสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติใหม่เป็นสินเชื่อสีเขียว

    อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายจะเป็นอันดับ 1 ในด้าน TradeBank ของอาเซียน โดยจะการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็น Valuechain ของนักลงทุนในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งกลุ่มสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ที่ปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ตามเป้าหมายที่ชัดเจนของภาครัฐ และเห็นความร่วมมือในหลายด้านเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

    ในส่วนสถานการณ์ธุรกิจรายใหญ่ในไทย เนื่องจากไทยมีจุดเด่นด้านยานยนต์ ทำให้ช่วงที่ผ่านมายังเห็นการลงทุนทางตรง (FDI) ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ค่อนข้างมากโดยเฉพาะจากจีน (ปี 2566 ที่ผ่านมา FDI จากจีนสูงกว่าญี่ปุ่น) ซึ่งยอดขาย EV ไทยยังมีการเติบโตในปี 2566 ที่ผ่านมา มีสัดส่วน 15% ของยอดขายรถยนต์นั่งในประเทศ แม้ปี 2567 นี้มีทิศทางชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังมองว่ารถยนต์สันดาปมีการชะลอตัวมากกว่า อีกทั้ง EV ยังจะมีการขยายตัวตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขยายอุตสาหกรรม EV ในประเทศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังมีการขยายตัวขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (ที่เห็นการลงทุนจากไต้หวันเริ่มเข้ามา) Healthcare Construction เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่สถานการณ์ปัจจุบันยังกระทบกำลังซื้อของรายย่อย ทำให้ธนาคารยังคงพิจารณาสินเชื่อเข้มงวด

    นอกจากนี้ ในรายงานผลสำรวจ UOB Business Outlook Study ประจำปี 2567 ในประเทศไทยยังพบว่า ธุรกิจไทยกว่า 90% มองว่าอัตราเงินเฟ้อสูงในปี 2566 ที่ผ่านมา กระทบต่อการทำธุรกิจเพาะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งการผลิตและวัตถุดิบ รวมถึงทำให้กำไรลดลง ที่ผ่านมาจึงมีแนวทางการรับมือทั้ง การพัฒนาผลิตภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิผล การลดทอนค่าใช้จ่ายและการว่าจ้างใหม่ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังเห็นแนวโน้มภาคธุรกิจไทยสนใจการขยายตลาดในต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้

    จากผลสำรวจฯ พบว่า ธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโตระหว่างประเทศ โดยเกือบ 90% ภายใน 3 ปีข้างหน้ามีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น อาเซียนและจีน โดยเฉพาะเวียดนาม (กว่า 50%) สาเหตุเพราะจำนวนประชากรที่ขยายตัว และมีสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากมาย รวมถึงปัจจัยด้านแรงงาน สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น

    ส่วนการลงทุนในประเทศ ในภาพรวมปีนี้ยังเห็นภาพธุรกิจขนาดใหญ่ชะลอการลงทุนลง แต่ยังมีบางกลุ่มที่เติบโตกว่าตลาด เช่น Digital, Data Center, ระบบ Cloudดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งสะท้อนถึงการปรับใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจมากขึ้น

    ในด้านสินเชื่อ SME นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ SME ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ SME ไทยช่วงที่ผ่านมาหนี้เสียใหม่ลดลงส่วนหนึ่งเพราะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) เข้ามาเพิ่มสภาพคล่อง และธนาคารมีการคัดกรองลูกค้าเข้ามาในพอร์ต โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ฟื้นตัวได้หลังจาก COVID-19 เช่น กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ที่เคยกระทบช่วงการแพร่ระบาด แต่ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วกระจายตัวได้มาก็ขึ้น คาดว่าปีนี้สินเชื่อ SME ยังโตได้ 2 เท่าของ GDP ไทย ราว 4%



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรณีศึกษา UOB แก้ปัญหาผลกระทบการโอนย้ายจากซิตี้แบงก์ เพิ่ม Call Center - เคลียร์ค่าปรับ เพียงพอ?

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine