เมื่อคนไทยเที่ยวนอกลดลง ใช้บัตรแลกเงินมากขึ้น แต่ทำไมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศยังเติบโต - Forbes Thailand

เมื่อคนไทยเที่ยวนอกลดลง ใช้บัตรแลกเงินมากขึ้น แต่ทำไมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศยังเติบโต

ช่วงนี้หลายคนอาจเห็นเพื่อนต่างเดินทางสู่ต่างประเทศกันมากขึ้น แต่หากดูในทางสถิติแล้ว คนไทยยังออกไปเที่ยวต่างประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลต่อหลายธุรกิจในไทยทั้งบริษัทด้านการท่องเที่ยว ไปจนถึงข้อสงสัยว่าธุรกิจบัตรเครดิตที่คนไทยมักนำไปใช้รูดจ่ายในต่างประเทศจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่


‘ไทยเที่ยวนอก’ ฟื้นไม่เท่าก่อนโควิด

    เริ่มกันที่ “โชติช่วง ศูรางกูร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เปิดเผยกับ ForbesThailand ว่า ปัจจุบันราคาตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางไปต่างประเทศราคาถูกลง เมื่อเทียบกับช่วงหลังโควิดที่จะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินค่อนข้างสูง ปัจจัยนี้เองเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนเริ่มกับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

    แต่หากติดตามในเชิงสถิติพบว่า จำนวนไทยเที่ยวนอกยังไม่ฟื้นกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ปี 2567 จำนวนคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่ที่ราว 7.5 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีจำนวน 10.8 ล้านคน (ประมาณการจาก Immigration)

    “เดิมคนไทยเที่ยวต่างประเทศเยอะ แต่อาจเชิงปริมาณ โดยอาจเดินทางในประเทศใกล้ๆ โดยเฉพาะเมียนมาเดิมอยู่ที่หลักหมื่นต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นลดลงมาก แต่แน่นอนว่าตอนนี้ประเทศปลายทางที่คนไทยนิยมไปเที่ยว ยังคงเป็นญี่ปุ่น ที่คนไทยเดินทางไปหลักล้านคน และปีที่ผ่านมา จีนมาแรงมากคาดว่าจำนวนคนไทยบินไปทะลุ 6 แสนคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด-19” โชติช่วง กล่าว



    ขณะที่การเดินทางไปเกาหลีใต้ จำนวนคนไทยเดินทางลดลงมาก จากกรณีการตรวจคนเข้าเมือง และกระแส Soft power ที่เริ่มลดลง 

    ส่วนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในต่างประเทศก็เปลี่ยนไปเช่นกัน หลังโควิดมักเป็นลุกค้ากลุ่มบน หรือ Premium traveler มากขึ้น ซึ่งสะท้อนที่การฟื้นตัวของไทยที่เป็น K-shape (การฟื้นตัวไม่เท่ากัน) แต่ช่วงนี้กลุ่มกลางล่างเริ่มกลับมา จากราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง แต่เห็นว่าคนวางแผนเที่ยวในหลักเดือนจากเดิมที่วางแผนเป็นปี

    ข้อมูลเหล่านี้ยังสะท้อนว่า แม้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ยังทำให้คนไทยหลายกลุ่มมีกำลังซื้อลดลง แล้วธุรกิจบัตรเครดิตที่ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อคนไทย ปรับแผนอย่างไร


 อธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์


ยอดใช้จ่ายนอกฯ ไม่ลดเพราะคนไทยเน้นช้อปออนไลน์

    เมื่อย้อนดูธุรกิจบัตรเครดิตในไทยเจอความท้าทายมาต่อเนื่องทั้งปัจจัยหลักอย่างหนี้ครัวเรือนสูง หนี้เสียที่พุ่งขึ้น ทำให้ไม่กล้าปล่อยวงเงินอย่างเต็มที่ ไหนจะเจอการปรับกฎเกณฑ์จากทางการอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดเพดานอัตราดอกเบี้ยฯ, ปรับการชำระขั้นต่ำ ฯลฯ และมีการแข่งขันสูงขึ้นจากบัตร Travel card (บัตรเติมเงินที่สามารถแลกสกุลเงินต่างประเทศไว้รูดใช้/กดเงินสดที่ต่างประเทศได้) ซึ่งอาจมาเบียดยอดใช้จ่ายในสกุลเงินต่างประเทศลงไป

    ‘อธิศ รุจิรวัฒน์’ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ ForbesThailand ว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา แม้จะมีทางเลือกในการจ่ายเงินเมื่อไปต่างประเทศมากขึ้น แต่ยอดการใช้จ่ายต่างประเทศ ยังเติบโต 13% มาจากทั้ง 2 แกน

    1) คนไทยที่เดินทางไปเที่ยว หรือ การใช้จ่ายแบบ F2F ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเติบโต 5% โดย 3 หมวดที่มียอดใช้จ่ายสูงสุดคือ 1. สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้าและเครื่องหนัง) 2. ห้างสรรพสินค้า 3.อาหารและเครื่องดื่ม

    แต่หากดูว่าหมวดไหนมีอัตราการเติบโตสูงสุด ได้แก่ 1. ช้อปออนไลน์ (+25%) 2. ตัวแทนท่องเที่ยว (+22%) 3.โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน (+20%)

    2) ยอดใช้จ่ายแบบ Online บนร้านค้าที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เติบโต 15% โดย 3 หมวดที่มียอดใช้จ่ายสูงสุด ได้แก่ 1. โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน 2. ตัวแทนท่องเที่ยว 3. ช้อปออนไลน์

     แต่หากดูว่าหมวดไหนมีอัตราการเติบโตสูงสุด ได้แก่ 1. สินค้าเกี่ยวกับเด็กและเกมส์ (+167%) 2. ร้านขายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์(+17%) 3. เช่ารถ (+13%)

    แน่นอนว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้บริษัทฯ ยังไม่รุกตลาดสินเชื่อใหม่มากนัก แต่จะเน้นขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากลูกค้าเดิมที่เรารู้จักและมีข้อมูลพฤติกรรมอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าปี 2568 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในภาพรวมยังเติบโต 10%



ภาพ: กรุงศรี คอนซูมเมอร์, freepik, freepik2, freepik3, freepik4



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ญี่ปุ่น' ประเทศสุดฮิตของเหล่านักเที่ยว-นักชอป กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าปี 68 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโต 2,530 ล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine