หุ้นไทยโค้งสุดท้าย ลุ้นดัชนีแตะ 1,500 จุด - Forbes Thailand

หุ้นไทยโค้งสุดท้าย ลุ้นดัชนีแตะ 1,500 จุด

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-พ.ย.) ปรับตัวลดลงมากกว่า 10% ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.97 แสนล้านบาท ขณะที่ช่วงโค้งสุดท้าย นักวิเคราะห์คาด TESG สร้างแรงส่ง บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ บล.เอเซีย พลัส ประเมินปลายปีดัชนีมีโอกาสแตะระดับ 1,500 จุด และขยับขึ้นเป็น 1,700 จุดในปี 2567


    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมแบ่งตามประเภทนักลงทุน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 8 ธ.ค. 2566 พบว่า สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 74,046.44 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ขายสุทธิ 3,153.72 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 197,315.33 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ (รายย่อย) ซื้อสุทธิ 126,422.61 ล้านบาท

    โดยบรรยากาศการลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าได้รับอานิสงส์จากกองทุน TESG และคาดการณ์เกี่ยวกับการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยวัน 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา SET ปิดที่ระดับ 1,380.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 37,650.03 ล้านบาท ลดลง 21.14% จากสัปดาห์ก่อน


กองทุน TESG สร้างแรงส่งโค้งสุดท้าย

    วันที่ 8 ธ.ค. 2566 กระทรวงการคลัง สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ร่วมเปิดตัว “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” (Thailand ESG Fund : Thai ESG) โดยมี 22 กองทุนจาก 16 บริษัทจัดการลงทุนพร้อมเปิดขายให้กับนักลงทุน คาดว่าจะระดมเงินลงทุนได้ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2566

    วันที่ 11 ธ.ค. ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงฉบับที่ 390 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีภาษี (พ.ศ.2566 - 2575) ให้ผู้ที่มีเงินได้จะได้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน Thai ESG ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีและจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยกองทุน Thai ESG จะมีนโยบายเน้นลงทุนในประเทศในสินทรัพย์ อาทิ หุ้นหรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเพื่อความยั่งยืน

    สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) มองว่า Thai ESG จะส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่สนับสนุนการออมระยะยาว เม็ดเงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะลงทุนในหุ้น ESG อาจช่วยให้ตลาดหุ้นไทยแข็งแรงขึ้น ซึ่งระยะต่อไปรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามมา เช่น e-Refund รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท จะช่วยทำให้ตลาดหุ้นแข็งแรงขึ้น และมีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567

    สอดคล้องกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ฟื้นตัวดีขึ้น จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

    1. รัฐบาลใหม่ทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง
    2. เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67 เติบโตเป็นขั้นบันได มีปัจจัยสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ การส่งออก และการบริโภคในประเทศ
    3. อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปี 2567 คาดว่าเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักที่ 12.6% หรือ 99.8 บาท/หุ้น คาดว่าดัชนีเป้าหมายในปี 2567 อยู่ที่ 1,717 จุด ส่วนปีนี้คาดว่าจะแตะระดับ 1,500 จุด

    อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สงคราม อิสราเอล-ฮามาส เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งหากมีการขยายวงกว้างไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค อาจทำให้ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 2. ผลกระทบของเอลนีโญที่อาจทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (Cost Push Inflation) และ 3. มูลค่าซื้อขายเบาบางพร้อมกับปริมาณการ Short Sell หุ้นไทยที่ยังสูงอยู่กดดันตลาดหุ้นผันผวนช่วงสั้น

    ขณะที่ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทย (Fund Flow) คาดได้แรงกระตุ้นจากเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งส่วนของ TESG ที่เข้ามาหนุนในช่วงที่เหลือของปีราว 1-2 หมื่นล้านบาท และ Fund Flow ต่างชาติมีโอกาสไหลเข้ามากขึ้น ในภาวะสิ้นสุดแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่า หรือค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าได้ รวมถึงเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

    สำหรับสัปดาห์นี้ (12-15 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ 3 ธนาคารกลางรายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมวันที่ 12 – 13 ธ.ค. ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคากลางอังกฤษ (BOE) ประชุมวันที่ 14 ธ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ก่อนทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทองคำพุ่งแตะ 2,144 ดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ YLG แนะรอจังหวะซื้อเก็งกำไร 2,070-2,050 ดอลลาร์

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine