"หุ้นไทย" เดือนกุมภาฯ จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง - Forbes Thailand

"หุ้นไทย" เดือนกุมภาฯ จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง

เดือนมกราคม 2567 ตลาดหุ้นไทย ปิดที่ 1,364.52 จุด ลดลง 3.63% เมื่อเทียบกับธันวาคม 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 30,874.11 ล้านบาท จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อัตราการเติบโตของจีนชะลอตัว IMF คาดขยายตัว 4.6% หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย ประชุม กนง.สัปดาห์นี้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%


    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทย เดือนมกราคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,364.52 จุด ลดลง 3.63% เมื่อเทียบกับธันวาคม 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 30,874.11 ล้านบาท ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมหลังจากมีข่าวการลงนามข้อตกลงระหว่างฟรีวีซ่าไทย-จีน ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย-จีนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 4 แสนคน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจีน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม


IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีน

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 4.6% และจะค่อยๆ ชะลอตัวลงเหลือขยายตัว 3.4% ในปี 2571 หลังจากตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนภาวะการหดตัวของภาคการผลิตและการส่งออก รวมทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำจากผลกระทบของ China Evergrande Group ที่ศาลฯ มีคำสั่งให้ปิดกิจการ ด้วยภาระหนี้สินรวมมากกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

    ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน จะทำให้จีดีพีของจีนโตต่ำกว่าเส้นฐานในปี 2567-2568 ในอัตรา 1 และ 0.8% ตามลำดับ และทำให้การเติบโตของจีนลดลงเหลือประมาณ 3%

    “การหดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลึกเกินคาดอาจส่งผลต่ออุปสงค์ภาคเอกชน และทำให้ความเชื่อมั่นแย่ลง ขยายความตึงเครียดทางการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น และส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และผลตอบรับทางการเงินระดับมหภาคที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ อุปสงค์ภายนอกที่แย่กว่าที่คาดและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของจีนอีกด้วย” รายงานของ IMF ระบุ

    ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก ทำให้ทั้ง IMF และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 66 โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 2.9% จากปี 2566 ที่ 3%

    ส่วน OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 2.7% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัวจากปัญหาดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังถูกกดดันจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่อ่อนแอ และภาคเอกชนยังไม่มั่นใจในการลงทุน และไทย ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย


คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ย 2.5%

    สำหรับเศรษฐกิจไทยในสัปดาห์นี้ มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์

    โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทาง กนง. ประเมินว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในบริบทปัจจุบัน (neutral rate) ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่อง แต่มาจากผลของปัจจัยชั่วคราว

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลงในช่วงครึ่งหลังของปีมากขึ้น หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ทาง กนง. ประเมินไว้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้า และความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet

    สอดคล้องกับกลุ่มตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มองว่าเหตุผลที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยมาจากเงินเฟ้อไทยที่ติดลบต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่คาด และแรงกดดันทางการเมืองที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน

    สำหรับสัปดาห์นี้ (5-9 กุมภาพันธ์) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุดขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม กนง. (7 กุมภาพันธ์) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของ บจ.ไทย

    ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเดือนธันวาคม 2566 ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการของเดือนมกราคม รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมกราคมของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมกราคมของจีน



Image by jcomp on Freepik



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : "กรุงศรี" ประกาศแผนธุรกิจระยะกลาง ยึด 3 หลัก เชื่อมโยงอาเซียน มุ่งเน้นความยั่งยืน สู่ความเป็นหนึ่งในภูมิภาค

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine