ตลาดหุ้นไทยปี 2566 แย่สุดในเอเชีย ปี 2567 เผชิญความท้าทายต่อเนื่อง - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นไทยปี 2566 แย่สุดในเอเชีย ปี 2567 เผชิญความท้าทายต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นไทย ปิดปี 2566 ด้วยผลประกอบการที่แย่สุดในเอเชีย 15.2% ตามด้วยดัชนี Hang Seng Index (HSI) ของฮ่องกง ที่ติดลบ 13.8% ปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ไทยมีปัญหาด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งกรณีหุ้น MORE, STARK และล่าสุด NUSA รวมถึงกรณี Naked Short sell และโปรแกรมเทรดดิ้งที่เข้ามามีอิทธิพลในการซื้อขายหุ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องในปี 2567


    ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2566 ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 15.2% ที่ระดับ 1,415.85 จุด จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1,668.66 จุด โดยต่างชาติขายสุทธิ 192,082.91 ล้านบาท การซื้อขายวันที่ 28 ธันวาคม วันสุดท้ายของปี ปิดที่ระดับ 1,415.85 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,725.20 ล้านบาท ลดลง 0.43% จากสัปดาห์ก่อน

    ดัชนีหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นเวียดนามและอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบจากจีน โดยเฉพาะไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีน และนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก ทำให้ผลประกอบการออกมาแย่ที่สุดในภูมิภาค

    ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นปีท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ประเด็นความตึงเครียดในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจในประเทศ

    โดยดัชนี SET แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ 1,354.73 จุด ในช่วงประมาณกลางเดือนธันวาคม ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายปี รับสัญญาณจากเฟดซึ่งบ่งชี้ว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ได้จบลงแล้ว และอาจมีการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567

    นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยภายในเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังจากเกิดกรณีหุ้น MORE และ STARK ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนสถาบันและธนาคารพาณิชย์ และล่าสุดส่งท้ายปลายปีด้วยกลุ่มนักลงทุนรายย่อยรวมตัวยื่นฟ้องดีเอสไออีกหนึ่งกรณีหุ้น NUSA

    รวมถึงกระแสข่าวการซื้อขายหุ้นแบบ Naked Short sell และการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งความถี่สูง ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นปัญหาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขต่อไป


มกราคมยังต้องลุ้นต่อเนื่อง

    บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด มองว่าสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2567 ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

    ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธันวาคม บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือน ธ.ค. ของจีน ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ธ.ค. ของยูโรโซน

    บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด มองว่าตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคมมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ January Effect ที่ให้ผลตอบแทนในเชิงบวก 7 จาก 10 ปีย้อนหลังจากการซื้อขายหุ้นในเดือนมกราคม โดยคาดว่า SET, SET 50 และ mai จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.88%, 1.74% และ 2.67% ตามลำดับ โดยมี 3 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

    1.การกลับมาของเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ปี 2566 ขายสุทธิ 192,082.91 ล้านบาท
    2.ความคาดหวังเชิงบวกในช่วงต้นปีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 3.0% ทำให้คาดว่ากำไรของตลาดในปี 2567 จะกลับมาบวก 15.5%
    3.เม็ดเงินกองทุน LTF ในปี 2560 ที่ครบกำหนดและสามารถขายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท


    โดยกลยุทธ์ลงทุนในเดือนมกราคม เน้นอุตสาหกรรมทีให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด เช่น กลุ่มเกษตร เช่าซื้อ ธนาคาร สื่อสาร และขนส่ง เป็นต้น

    ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า จำกัด ประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 1,520 จุด โดยมองว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ดัชนีฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง เพราะจะได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างมาตรการ Easy E-Receipt ประกอบกับจะมีความคืบหน้าเรื่องงานประมาณปี 2567 และมาตรการ Digital wallet

    ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 และ 3 มีแนวโน้มปรับตัวลงได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรปจะเข้าสู่ช่วงชะลอตัว โดยรวมมีมุมมองเชิงบวกต่อ SET Index ในช่วงต้นปีมากที่สุด

    สำหรับหุ้นที่น่าจับตา คือกลุ่ม Defensive Play และ Domestic Play เพราะคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ส่วนกลุ่มหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีโอกาสได้รับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างสูง

    ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แต่ต้องติดตามพฤติกรรมในการใช้จ่าย รวมถึงตัวเลขส่งออกที่เริ่มดีขึ้น ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าไทยจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวครั้งนี้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีผลต่อการขับเคลื่อนการเติบเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการลงทุนในปี 2567 นี้


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สารพัดปัจจัยรุมเร้า! SCB EIC ประเมินอาการเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นตัวช้า

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine