ภาคเอกชนกังวลส่งออกไทยชะลอจากสงครามการค้า เร่งรัฐออกมาตรการหนุนผู้ส่งออก - SME - Forbes Thailand

ภาคเอกชนกังวลส่งออกไทยชะลอจากสงครามการค้า เร่งรัฐออกมาตรการหนุนผู้ส่งออก - SME

ที่ประชุม กกร. กังวลการส่งออกไทยชะลอจากผลกระทบสงครามการค้า เร่งรัฐออกมาตรการช่วยทั้งผู้ประกอบการส่งออกและ SME ส่วนกรณีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วไทย ยังหารืออยู่ 


    นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าโลกชะลอตัวชัดเจนขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมของประเทศสำคัญยังฟื้นตัวได้ช้า 

    นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมาตรการขึ้นภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐฯ ที่จะบังคับใช้ภายในปีนี้ ในสินค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯ มองว่าจีนใช้เป็นฐานการผลิต 

    อีกทั้ง หากจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐย่อมต้องหาตลาดใหม่ทดแทนเพื่อส่งออกสินค้า กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทย


    จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ที่ประชุม กกร. กังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่มีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมคือ ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ

    นอกจากนี้ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น มาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วง Low-season และการเตรียมนำเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. วงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อ ครม. นั้น ทาง กกร. เสนอให้ภาครัฐเพิ่มมีมาตรการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น 

    อย่างไรก็ตาม กรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น กกร.อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐ เพื่อให้แนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยแต่ละพื้นที่จะประสานผ่าน กกร.จังหวัดให้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ต่อไป 

      ทั้งนี้ กกร. มองว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และยังคงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2567 ไว้ที่ 2.2 - 2.7% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5 - 1.5% และกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ 0.5 - 1.0%





เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หนี้เสียเช่าซื้อรถยังสูง แต่บริษัทญี่ปุ่น-ไต้หวันยังร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่บุกตลาดลีสซิ่งไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine