เคทีซีจัดงานเสวนา KTC FIT Talks ในหัวข้อ “เศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพรวมและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย คาด GDP ไทยขยายตัว 3.5%
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสงครามยูเครน
โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.1% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ที่ 7% จาก 8.7% ในปี 2565 อีกทั้งการปรับลดการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัส อาจทำให้ราคาพลังงานคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว
“ในสหรัฐอเมริกาวิกฤตการณ์ธนาคารปิดตัว ส่งผลกระทบให้เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มีแนวโน้มชะลอตัว หลายหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงปลายปี 2566 จากวิกฤตการณ์ภาคธนาคาร และการชะลอของกำลังซื้อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ จะอยู่ที่ 1.1% เทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.1% ด้านสหภาพยุโรปคาดว่าปีนี้ GDP จะขยายตัว 0.4% ขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 3.5% รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยในอัตราสูง เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อ”
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโตมากกว่า 5% เนื่องจากการยกเลิกนโยบายปลอดโควิดและการทยอยเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี ภาคการผลิตและบริการส่งสัญญาณฟื้นตัวในเชิงบวก ภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ความมีเสถียรภาพของเงินหยวน และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 1%
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ประเมินว่า GDP ขยายตัว 3.5% จากการบริโภคของภาคครัวเรือน การส่งออกสุทธิ และภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และเพิ่มเป็น 35.5 ล้านคนในปี 2567
ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยปี 2564 มีอัตราการเติบโตถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปี 2565 การส่งออกโต 5.5% หส่วนการบริโภคในประเทศตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมามีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเมษายน 2566 ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิดในเดือนมีนาคม 2563 สาเหตุจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวทำให้การว่างงานลดลง มีรายได้จากการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้าง การค้าขายและการผลิต และคาดว่าการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่สูงคิดเป็นเกือบ 90% ของ GDP อาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการบริโภค โดย 1 ใน 3 เป็นหนี้ครัวเรือนที่มาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน (SML) อยู่ในระดับมากกว่า 6% ขณะที่ช่วงก่อนโควิดคิดเป็น 3% นอกจากนี้ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอาจส่งผลให้งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2566 ไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากนัก
“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรก จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออกไปตลาดจีนและกำลังซื้อในประเทศ อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวน้อยกว่า 2% เนื่องจากราคาพลังงานลดลง แต่ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอีกหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบที่ 2.25% ถึง 2.5% ในสิ้นปี 2566”
ชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการประเมินเศรษฐกิจของทีดีอาร์ไอว่า เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ และเชื่อว่าจะส่งผลบวกให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น
โดยช่วงไตรมาส 1/2566 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม เท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทฯ เท่ากับ 12.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 3.8%”
“ทั้งนี้ ไตรมาส 1/2566 พอร์ตสินเชื่อรวมของเคทีซีมีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเป็น 103,312 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.6% เป็นอัตราเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี โดยมี NPL รวมอยู่ที่ 1.9% และมั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจในปี 2566 ว่ามีกำไรมากกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบ 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เติบโต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,000 ล้านบาท และ NPL น้อยกว่า 1.8% ซึ่งเป็นอัตรา NPL ในปี 2565” ชุติเดชกล่าวในตอนท้าย
อ่านเพิ่มเติม: “เซ็นทรัล” เผย ยอดขายแผนกบิวตี้ Q1/2566 โต 14% พร้อมชูกลยุทธ์ “5 IN” ครองใจผู้บริโภค
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine