นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้เตรียมความพร้อม Transforms องค์กร สู่กลไกค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ ภายใต้นโยบายกระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล จัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) เพื่อยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทย กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 12 เดือนนับจากนี้
ล่าสุด ได้เดินทางศึกษาดูงานค้ำประกันสินเชื่อโมเดลต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำมาใช้ในการยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทย สู่ NaCGA พร้อมร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บสย. และ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC) สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 เพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทย การบริหารจัดการความเสี่ยง และการยกระดับเครดิต การันตี โมเดล
โดยขยายรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ จากค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) สู่การค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ (Direct and Individual Guarantee) โดยมี บสย. ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) และการนำข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ของผู้ประกอบการ SMEs เช่น รูปแบบการใช้จ่าย และพฤติกรรมการชำระเงิน มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ (Alternative Credit Scoring Model) เพื่อนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ ตลอดจนการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ

นายสิทธิกร กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา บสย. ได้ยกระดับ Transforms องค์กรในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 33 ปี และครั้งนี้ บสย. ได้เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ภายใต้ภารกิจ 4 มิติหลัก ดังนี้
1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับโฉมและยกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ร่วมกับช่องทาง Digital LINE OA : @tcgfirst
2. ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Model) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP (Risk-Based Pricing) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs ช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ
3. ด้านการใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
4. ด้านการใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking
“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน เป็นแรงผลักดันให้ บสย. ต้องปรับตัวและเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสามารถเป็นองค์กรที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ตามพันธกิจและการเป็น SMEs’ Gateway ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ทั้งระบบ” นายสิทธิกร กล่าว

สำหรับ ผลดำเนินงาน 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,840 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ในสัดส่วนสูงถึง 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันเฉลี่ย 4.78 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 46,775 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 398,998 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 177,056 ล้านบาท ภายใต้ 3 โครงการหลัก ได้แก่
1. โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 25,057 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 71,570 ราย
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 1,543 ราย
3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 8,278 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดค้ำประกัน ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 4,481 ราย
สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.8% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.4% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 10% ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนค้ำประกัน 50% สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่กิจการต่างๆ เน้นขยายการลงทุนเพื่อรองรับไฮซีซั่น ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก
สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.7% ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้าน คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

นายสิทธิกร กล่าวว่า บสย. สำหรับภารกิจแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SMEs ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” หรือ มาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว) ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2565 ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 16,577 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 10 เดือน จำนวน 3,131 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,636 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. โดยช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการกลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 126 ราย โดยมีแนวโน้มที่ลูกหนี้ที่ต้องการ “ปลดหนี้” ผ่านมาตรการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)

โดยผลดำเนินงานด้านการส่งเสริมความรู้ ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 -31 ตุลาคม 2567 มีการให้ความรู้ทางการเงินแก่ SMEs รวม 22,141 ราย แบ่งเป็นการให้คำปรึกษา 6,793 ราย และการอบรม 15,348 ราย คิดเป็นความต้องการสินเชื่อรวม 17,107 ล้านบาท โดยสามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) คิดเป็น 18.32%
ทั้งนี้ บสย. ได้เดินหน้ายกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่ “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ให้คำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และความรู้ทางการเงิน ร่วมกับการให้บริการผ่าน LINE OA : @tcgfirst พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษา และลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการต่างๆ ของ บสย. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 91.4% ต่อ GDP สมาคม TFPA จับมือ ‘แบงก์ชาติ’ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ประชาชน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine