บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ 15 - 19 มกราคม 2567 มีแนวรับที่ 1,400 และ 1,390 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,435 และ 1,455 จุด โดยดัชนีหุ้นไทยยังอยู่ในทิศทางขาลง แม้หลายตลาดในเอเชียจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านทั้งในและต่างประเทศที่ต้องจับตา
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้จากหุ้นที่ไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะข่าวการขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมส่งผลให้มีแรงขายหุ้นในหลายอุตสาหกรรม
โดยสัปดาห์นี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งเตือนให้ผู้ถือหุ้นกู้ ITD รวม 5 รุ่น ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้วันที่ 17 มกราคมนี้ โดยหุ้นกู้ ITD จะครบกำหนดในปีนี้ 6,800 ล้านบาท และปี 2568 อีก 8,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะขอพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี
นอกจากนี้ กระแสข่าวที่วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ปรับลดน้ำหนัก (Downgrade) 3 หุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยยังเป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันหุ้นกลุ่มแบงก์เพิ่มเติม โดยวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,413.53 จุด ลดลง 1.01% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,215.73 ล้านบาท ลดลง 11.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.26% มาปิดที่ระดับ 420.57 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้มีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และงาน BOT Policy Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจจะมีการส่งสัญญาณบางอย่างเรื่องอัตราดอกเบี้ย หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองได้ออกมาให้ความเห็นเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว นอกจากนี้ต้องติดตามกาประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะผลประกอบการกลุ่มแบงก์ในไตรมาสที่ 4/2566
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธันวาคม รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมของญี่ปุ่น ยูโรโซนละอังกฤษ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธันวาคม ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในเดือนธันวาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ธันวาคม 2566) พบว่า ดัชนี ICI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ การไหลออกของเงินทุน
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ และ ยุโรป จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดเร็วกว่าคาด และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด และผลการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่จะเป็นจุดชี้ชะตาสำคัญต่อความเป็นไปได้ในการเกิดการสงครามระหว่างไต้หวัน-จีน
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจากแนวโน้มการค้าโลกที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังนักลงทุนจีนเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ล่าสุด ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของไต้หวัน วิลเลียม ไล ชิง-เต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เตรียมก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป หลังจากผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการระบุว่าเขาได้คะแนนเสียงเกือบ 5 ล้านเสียง ทิ้งห่างคู่แข่งจากอีกสองพรรค จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
แนะกระจายความเสี่ยงลงทุน
วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย ได้สรุปมุมมองการลงทุนและการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2024 ว่า ตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2567 คือความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายที่อาจผิดพลาด และความผันผวนของสภาพอากาศ ดังนั้นการจัดสรรสินทรัพย์อย่างรอบคอบและกระจายความเสี่ยง จะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้
ทั้งนี้ เมื่อเฟดหยุดการขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ประเภท Long-Duration อย่างพันธบัตร หุ้นกู้ที่มีอายุเฉลี่ยระยะยาว หุ้นปันผลสูงและทองคำ
สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย เราเชื่อในแนวทางการกระจายความเสี่ยงทั่วทั้งภูมิภาคมีความสำคัญในการคว้าโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ด้วยผลตอบแทนพันธบัตรและดอกเบี้ยเงินฝากที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2567 มองว่านักลงทุนจะกลับมาสนใจหุ้นเอเชียที่จ่ายเงินปันผลสูงอีกครั้ง โดยธีมการลงทุน เน้นปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และ ESG ยังเป็นการลงทุนระยะยาวของโลก
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 20 อันดับแอปพลิเคชันไทย ยอดดาวน์โหลดสูงสุด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine