อีกไม่กี่อึดใจ ก็จะเข้าสู่ปี 2025 กันแล้ว โจทย์ใหญ่ของนักลงทุนเวลานี้ คือ การจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หลังจากการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ของที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจสะเทือนเสถียรภาพของตลาดโลกและส่งผลต่อการลงทุนในไทย ที่ขณะนี้ยังเผชิญความท้าทายรอบด้านจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่สูง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงได้จัดงานสัมมนาแห่งปี "Wealth Forum Thailand 2025 : The New Frontiers of Investment Opportunity" เจาะลึกทุกมิติที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน กับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน จับสัญญาณความผันผวน เจาะลึกทิศทางการลงทุน ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทั้งทีม K WEALTH ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการเงินและการลงทุนของธนาคารกสิกรไทย และได้เชิญ J.P. Morgan Asset Management กับ Lombard Odier องค์กรชั้นนำระดับโลกซึ่งเป็นพันธมิตรของธนาคารกสิกรไทย มาร่วมวงสัมมนาด้วย
เริ่มจาก ดร. พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพรวมให้เห็นว่า "หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025 คาดว่าจะเห็นนโยบายเร่งด่วนใน 100 วันแรก ของโดนัล ทรัมป์ เช่น นโยบายการลดเงินสนับสนุนทางทหารกับชาติพันธมิตร นโยบายกีดกันผู้อพยพเข้าเมือง นโยบายด้านพลังงาน รวมถึงการลดภาษี ซึ่งโดยรวมแล้วจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น รวมถึงการขาดดุลการคลังที่สูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดีขึ้นตามนโยบายของทรัมป์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่"
ด้าน Jin Yuejue, Managing Director, Asia Head of the Investment Specialist, Multi-Asset Solution Group จาก J.P. Morgan Asset Management ฉายให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2025 ว่า จะเป็นปีที่ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับทั้งวิกฤติโรคระบาด ภาวะดอกเบี้ยสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และซัพพลายเชนดิสรัปชั่น แต่ในปี 2025 คาดว่า การเติบโตจะกลับมา โดยเฉพาะถ้ามองไปฝั่งสหรัฐ ตัวเลขการจ้างงาน และการใช้จ่ายภาคประชาชน ล้วนไปได้ดี
"ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจโลกในปี 2025 เหมือนสภาพอากาศที่สดใส มีแดดออก (Sunny) แต่ขณะเดียวกันยังมีเมฆหมอก (Cloudy) ในบางพื้นที่ จากความท้าทายและผันผวนในบางภูมิภาค เช่น ยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง, การฟื้นตัวของญี่ปุ่นที่ตลาดไม่ได้ตอบรับ เป็นต้น ดังนั้น ทิศทางการลงทุนในปีนี้ แม้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง
สอดคล้องกับมุมมองของ Mr. Homin Lee, Senior Macro Strategist จาก Lombard Odier ที่เห็นภาพรวมคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างที่มุมมองเกี่ยวกับสหรัฐฯ จากที่ก่อนหน้านี้หลายคนมองว่าสหรัฐเข้าสู่ภาวะที่ไม่ได้เติบโตร้อนแรง แต่ก็ไม่ได้เติบโตลดลง แต่การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมาพร้อมนโยบายหลากหลาย จะสร้างผลบวกและผลลบต่อเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แต่กระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะนโยบายลดการเก็บภาษีภาคนิติบุคคลส่งผลให้ภาครัฐมีรายได้ลดลง จึงต้องลดการสนับสนุนภาคเทคโนโลยีสีเขียว และเพิ่มภาษีนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาชดเชย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตาว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรในระยะยาวอย่างไร โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้า ซึ่งประเมินว่าประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า จะต้องเจอความท้าทายอย่างแน่นอน
"ส่วนภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการขึ้นภาษีการค้า จะไม่ได้กระทบแค่สหรัฐฯ แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทรัมป์ไม่สามารถขึ้นภาษีการค้าได้เต็มที่ 60% เหมือนที่หาเสียงไว้ ดังนั้นเงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่รับไหว โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก แต่ในฝั่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักคือยุโรป ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ย ส่วนญี่ปุ่น ต้องวางกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศใหม่ ทำให้ค่าเงินเยนอยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อให้สามารถรักษาศักยภาพในการแข่งขันที่จะส่งออก เช่นเดียวกับจีน ต้องจับตาดูว่ามาตรการของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นอย่างไร คาดว่าจะเห็นนโยบายอย่างเต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2025"
ด้านคุณ JIN เสริมว่า ปี 2023 ทุกประเทศเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การมาของโดนัลด์ ทรัมป์จะกระทบกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะนโยบายการจัดการกับผู้อพยพ และการเก็บภาษีการค้า ซึ่งถ้าสถานการณ์เงินเฟ้อกลับมา จะส่งผลกระทบต่อการปรับ-ลดดอกเบี้ยของ FED ทั้งนี้คาดว่าถ้าสถานการณ์เงินเฟ้อกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ในปีหน้า FED น่าจะชะลอการปรับลดดอกเบี้ย อยู่ที่ไตรมาสละ 1 ครั้ง
ในประเด็นของความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสองเห็นพ้องว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ*จีน และการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สามารถมองให้เป็นทั้งความเสี่ยงในตลาด และเป็นโอกาสสำหรับคนที่การลงทุนเช่นเดียวกัน
สำหรับคำแนะนำในการลงทุน ในฝั่งของ Lombard Odier มองว่า การมาของทรัมป์ เท่ากับความผันผวนที่มากขึ้น ดังนั้นจะต้องกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยการกระจายความเสี่ยงในที่นี่ ไม่ใช่แค่ความหลากหลายของสินทรัพย์ แต่ในแต่ละสินทรัพย์ก็ควรกระจายด้วยเช่นกัน จึงแนะนำหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ไม่แนะนำหุ้นยุโรป ในด้านตราสารหนี้ แนะนำหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพ ส่วนค่าเงิน แนะนำฟรังก์สวิส เยนญี่ปุ่น รวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ, อสังหาริมทรัพย์ในสวิตเซอร์แลนด์
สอดคล้องกับด้าน J.P. Morgan Asset Management ให้น้ำหนักกับหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ไม่แนะนำหุ้นยุโรป เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ในส่วนของตราสารหนี้ แนะนำหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่มีคุณภาพสูง เพราะถ้าภาพใหญ่เศรษฐกิจไปได้ กิจกรรมภาคเอกชนมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
"หลายคนอาจจะมองว่า Valuation หุ้นสหรัฐฯในตอนนี้แพง แต่เป็นหุ้นที่มาพร้อมกับ Fundamental พื้นฐานของธุรกิจนั้นๆ ส่วนตัวชอบหุ้นสหรัฐฯ เพราะผลประกอบการยังโต และเชื่อว่าหุ้นสหรัฐฯ จะกลับมาขึ้นแบบกระจายตัว ไม่ได้ขึ้นกระจุกตัวเหมือนที่ผ่านมา จึงแนะนำให้มองหาหุ้นที่มี Fundamental ขนาดกลางหรือเล็ก"
นักลงทุนไทยจัดพอร์ตอย่างไร เพื่อคว้าโอกาสการลงทุน
เห็นมุมมองภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและกลยุทธ์การลงทุนไปแล้ว มาถึงมุมมองจาก 3 ตัวแทนของวิทยากรไทยต่อการวางแผนการลงทุน เริ่มจากคุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย มองว่า การมาของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยมีทั้งประเทศที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นในฐานะนักลงทุนสามารถเลือกจับจังหวะเพื่อคว้าโอกาสที่ซ่อนอยู่ให้ได้
"เพื่อรับมือกับตลาด แนะนำการลงทุนในรูปแบบ Building a Resilience Portfolio เช่น K-FIXEDPLUS เน้นลงทุนตราสารหนี้ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง K-GSELECT เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งทั่วโลก K-PROPI เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กอง REIT ทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนกลุ่ม AI และเทคโนโลยียังดีอยู่ อาจจะไม่ได้โตแรง แต่มาในลักษณะการเติบโตแบบกระจายตัวมากขึ้น ขณะที่ยุโรป เป็นกลุ่มที่เติบโตต่ำ จึงไม่แนะนำ"
ด้านคุณวีระพล บดีรัฐ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในภาวะตลาดผันผวนเช่นนี้ แนะนำให้ลงทุนแบบกระขายตัวมากกว่ากระจุกตัว ด้วยเครื่องมือ Core - Satellite ซึ่งมีหลักการง่ายๆ คือสมมติมีเงิน 100 บาท แนะนำให้แบ่งพอร์ตลงทุนเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนของ Core สัดส่วน 70% เน้นลงทุนระยะยาวผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาช่วยบริหารพอร์ตลงทุน ส่วน Satellite สัดส่วน 30% เน้นจับจังหวะเข้าลงทุน โดยสามารถบริหารการลงทุนได้ด้วยตนเอง ผ่านหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ ฯลฯ
"ยกตัวอย่างการลงทุน Core -Satellite Portfolio สำหรับ Core แนะนำลงทุนกลุ่ม Multi Asset ผ่านกองทุน K-WealthPLUS Series, K-WPBALANCED, K-WPSPEEDUP, K-WPULTIMATE เน้นถือครองการลงทุน 3-5 ปี ส่วน Satellite อาจจะลงทุนกลุ่ม Fixed Income ผ่านกองทุน K-GINCOME-A(A)*, K-FIXEDPLUS-A, K-FIXED-A และ กลุ่ม Equity ผ่านกองทุน K-VIETNAM, K-GINFRA-A(D), K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-USA-A(A), K-GOLD-A-(A) ทั้งนี้ในช่วงเศรษฐกิจดีๆ อาจจะปรับลดปริมาณการถือ Core เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการจับจังหวะการลงทุนมากขึ้น แต่ช่วงที่เกิดวิกฤติ หรือสงคราม จัดสัดส่วนไปอยู่ที่ Core ให้มากหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงทุน Core -Satellite Portfolio เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถลงทุนได้ในทุกสภาวะ"
ปิดท้ายด้วยคุณสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า 3 เครื่องยนต์ที่คิดว่าไปได้ คือ 1.การบริโภคภายในประเทศ ที่ในปี 2025 จะได้อานิสงส์จากเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาท 2.การลงทุนจากภาครัฐ 3.การลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ยังประเมินว่าปี 2025 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสอยู่ที่ 1,520 จุด
"สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย สำหรับปีหน้า แนะนำว่าไม่ควรคาดหวังกับกับหุ้นที่มีการเติบโตของรายได้ แต่ให้เน้นหุ้นที่มีความสามารถในการควบคุมต้นทุนได้ดี เช่น TASCO และ OSP ที่จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง, TIDLOR ได้ประโยชน์จากทิศทางการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย, CPALL ได้ประโยชน์จากการเป็นกลุ่มค้าปลีกที่เน้นสัดส่วนการขายอาหารเป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสินค้าจีน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ของกิน แต่เป็นพวกของใช้ วัสดุก่อสร้าง และ PR9 ที่มีโอกาสเติบโตจาก Capacity ที่ไม่ต้องขยายการลงทุนใหม่ แต่สามารถรองรับผู้ป่วย OPD และ IPD ได้มาก"
ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นที่น่าสนใจจากงาน "Wealth Forum Thailand 2025 : The New Frontiers of Investment Opportunity" ซึ่งนอกจากจะชี้ให้เห็นภาพรวมของโลกการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 และกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจ อีกหนึ่งในหัวใจสำคัญคือ การกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อบริหารพอร์ตการลงทุน สำหรับสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ ต่อยอดความมั่งคั่งให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน