การสะสมความมั่งคั่งที่ว่ายากแล้ว การจะส่งต่อความมั่งคั่งก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะหากขาดการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้แผนการส่งต่อความมั่งคั่งไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลานแบบไม่สะดุด เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงได้จัดสัมมนา "THE WISDOM Wealth Decoded Talk ในหัวข้อ รู้ลึก รู้ทันภาษี (มรดก) ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน" โดยเชิญอาจารย์จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการสินทรัพย์และวางแผนภาษี และนางสาวอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการวางแผนจัดการสินทรัพย์ และบริหารภาษีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ทั้งสองวิทยากรเริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นความจำเป็นในการเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมรดกอย่างน่าสนใจว่า นับแต่กฎหมาย "ภาษีมรดก" มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2559 ได้กำหนดให้ผู้รับมรดกที่ทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5% ในกรณีที่ผู้รับเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน และเสียภาษี 10% กรณีผู้รับเป็นผู้อื่น โดยทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกนั้น สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท ได้แก่ 1)อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคาร 2)หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หน่วยลงทุนกองทุนรวม รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล 3)เงินฝากในสถาบันการเงิน 4)ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5)ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้
คำถาม คือ สำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และมีความประสงค์จะส่งต่อความมั่งคั่งให้กับคนรุ่นต่อไป จะทำอย่างไร เพื่อให้การวางแผนมรดกและส่งต่อทรัพย์สินเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ โดยไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ในการบริหารจัดการภาษี
สำรวจทรัพย์สินที่มี จำแนกว่ามีภาระภาษีอะไรบ้าง
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญ คือ การสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมบันทึกจัดแบ่งประเภทสินทรัพย์ และแจกแจงให้ชัดเจนว่ามีสินทรัพย์ใดที่มีผู้ถือครองแทนหรือถือครองร่วมหรือไม่ นอกจากนี้ เพื่อให้ครอบคลุมยังควรบันทึกสินทรัพย์ที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ซึ่งมีอยู่หลายประเภท เช่น เงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำประกันชีวิต ทองคำแท่ง ธนบัตร เครื่องเพชร ของสะสมต่างๆ เช่น ภาพเขียน นาฬิกา
เมื่อทำบัญชีรวบรวมทรัพย์สินที่มีแล้ว ให้ลงรายละเอียดภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมรดก ภาษีรับให้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเป็นต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญ ควรมีการหมั่นสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่เป็นประจำทุกๆ 1 ปี เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน
ถอดรหัส 4 เครื่องมือ วางแผนส่งต่อความมั่งคั่ง
หลังจากเห็นภาพรวมของทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว ทั้งสองวิทยากรได้ร่วมกันแนะนำ 4 เครื่องมือที่ใช้ในการส่งต่อมรดก ได้แก่
1.พินัยกรรม ซึ่งเป็นการจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิตให้แก่บุคคลที่ต้องการ พินัยกรรมมีอยู่ 5 แบบ คือ 1)พินัยกรรมแบบธรรมดา 2)พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ 3)พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง และ 4)พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ 5)พินัยกรรมที่ทำขึ้นขณะที่อยู่ในต่างประเทศ
สำหรับรูปแบบพินัยกรรมที่อาจารย์จรัญญาแนะนำ คือ พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งทำโดยมีนายทะเบียนเป็นผู้บันทึกและมีพยาน จึงมีความปลอดภัยและช่วยขจัดข้อโต้แย้งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การทำพินัยกรรม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการแสดงเจตจำนงในการจัดการทรัพย์สินที่มีว่าต้องการให้มีการบริหารจัดการอย่างไร หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ทั้งนี้หลังจากมีการทำพินัยกรรมแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆ ได้ และไม่ได้จำเป็นต้องใส่รายละเอียดมูลค่าทรัพย์สินว่ามีเท่าไหร่ หรือเงินสดกี่บาท แต่อาจใช้วิธีระบุว่ามีที่ดินกี่แปลงอยู่ที่ไหน มีสมุดบัญชีกี่เล่ม มีหุ้นหรือกองทุนอยู่กับโบรกเกอร์ไหนเป็นต้น โดยผู้รับพินัยกรรม อาจจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรรมก็ได้ แต่หากไม่ได้มีการพินัยกรรมไว้ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทรัพย์สินจะถูกส่งมอบให้กับทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับดังนี้ 1. ผู้สืบสันดาน (บุตร หลาน เหลน) 2. บิดา มารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา แต่หากมีคู่สมรสที่จดทะเบียน ให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก่อน จึงจะส่งมอบให้กับทายาทโดยธรรม
2.การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่นิยมในการบริหารทรัพย์สินครอบครัวที่เป็นระบบและยั่งยืน สามารถใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสะสมความมั่งคั่งในหลายเจนเนเรชั่น หลักการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง คือ การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทครอบครัว เพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการของครอบครัว และสมาชิกครอบครัวจะเป็นผู้ถือหุ้นใน Holding Company นั้น ทำให้แม้ Holding Company จะไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่มีรายได้ในรูปแบบเงินปันผลจากการถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งรายได้ตรงนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเงินจำนวนนี้ได้มีการเสียภาษีมาแล้วในนามของบริษัทในเครือ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความอุ่นใจในการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง อาจารย์จรัญญา แนะนำว่า ควรมีการจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจครอบครัว พร้อมตรวจสอบเอกสารกำหนดข้อบังคับของบริษัท ทั้งหนังสือรับรองบริษัท วัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท ข้อบังคับบริษัท และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เพื่อปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการในการส่งต่อธุรกิจ
3.ยกให้ระหว่างมีชีวิต เป็นการยกทรัพย์สินให้แก่ผู้รับในขณะที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีภาษีการรับให้ ซึ่งมีจุดตัดอยู่ที่ตัวเลข 20 ล้าน ถ้าเกินจะต้องเสียภาษี แต่ถ้าไม่เกินไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ผู้ที่มีความประสงค์จะถ่ายโอนทรัพย์สินให้ลูกหลาน อาจจะทยอยโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้ปีละ 20 ล้านบาท/ต่อคน/ปี โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ทายาทต้องเสียภาษี อัตรา 5%
ในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน แนะนำว่าให้จำแนกเป็นประเภทต่างๆ เช่น ต้องการขายในอนาคต อาจจะถือไว้ในนามบุคคล แต่ถ้าต้องการพัฒนาเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว แนะนำให้โอนเข้าบริษัทที่ดินครอบครัวเพื่อพัฒนา หรือถ้าต้องการให้มีการถือครองร่วมกันในครบครัว แนะนำให้โอนเข้าบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หากต้องการยกให้บุตร ในกรณีราคาไม่เกิน 20 ล้าน สามารถยกให้โดยไม่ต้องเสียภาษีส่วนที่เกิน ผู้โอนจะถูกหักภาษีไว้ 5% ทันทีทีกรมที่ดิน ณ วันโอน
4.ประกันชีวิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนมรดก และบริหารความเสี่ยง โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่ต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้ ซึ่งสินไหมมรณกรรมที่ได้จากประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษี นอกจากนี้ ผู้รับประโยชน์ยังได้รับเงินอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต เพราะเงินประกันไม่ถูกรวมเข้ากับกองมรดกจึงสามารถจ่ายให้แก่ผู้รับมรดกได้เลยโดยไม่ต้องรอการจัดการมรดก
ทั้งนี้ นางสาวอุมาพันธุ์ ให้คำแนะนำในการใช้ประกันชีวิตเพื่อบริหารจัดการภาษี ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำทุนประกันชีวิตเพื่อให้เพียงพอกับการชำระภาษีมรดก เช่น ชายวัย 65 ปี ต้องการส่งมอบทรัพย์สินให้บุตร 150 ล้านบาท กรณีนี้ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5% คือ 2.5 ล้านบาท สามารถทำกรมธรรม์ที่มีทุนประกัน 2.5 ล้านบาท หากบิดาเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้สินไหมมรณกรรม 2.5 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายภาษีมรดก
รูปแบบถัดมา คือ การนำสินทรัพย์ส่วนเกินบางอย่าง มาเป็นกรมธรรม์ชีวิต เช่น มีทรัพย์สินหลายอย่าง ทั้งที่ดิน เงินสด กองทุน ยานพาหนะ มูลค่ารวมกันแล้ว 150 ล้านบาท แนะให้แปลงทรัพย์สินจำนวน 50 ล้านบาทให้อยู่ในรูปกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อจะได้เหลือทรัพย์สินที่จะส่งต่อให้บุตรไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนอีก 50 ล้านบาท ส่งมอบในรูปแบบกรมธรรม์ประกันชีวิตแทน นอกจากนี้ยังสามารถทำในรูปแบบการแบ่งมรดกเท่าเทียม คือ สร้างมรดกให้ทายาทคนที่ไม่ได้รับกิจการโดยใช้ประกันสร้างมรดกชดเชยให้คนที่ได้สัดส่วนน้อยหรือไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของกิจการ หรือการสร้างมรดกก้อนใหญ่ ใช้เงินน้อย คือ การใช้ประกันสร้างมรดกให้บุตรหลานแต่ละคนเท่ากัน ด้วยการจ่ายค่าเบี้ยประกันซึ่งมีวงเงินไม่สูง และเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้จ่ายในชีวิต
ทั้งหมดนี้ คือ 4 เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับคนรุ่นต่อไป
สำหรับแบบประกันที่จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนส่งมอบมรดก ตามรูปแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่ คลายกังวลเรื่องภาษีมรดกที่อาจเกิดขึ้น ตอบโจทย์เรื่องการส่งต่อมรดกได้เป็นอย่างดี เพราะทุนประกันสูง เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และสามารถทำทุนประกันได้สูงสุดถึง 500 ล้านบาท
ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่* ส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่น...สู่รุ่น อย่างไม่สะดุด
- ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง คุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่กรมธรรม์อนุมัติ ยาวนานถึงอายุ 99 ปี
- จ่ายเบี้ยสั้นหรือยาว เลือกเองได้ เลือกชำระเบี้ยครั้งเดียว 5 ปี 10 ปี หรือ จ่ายถึงครบอายุ 99 ปี
- ส่งมอบหลักประกันให้ครอบครัว ได้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ
- ช่วยบริหารภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินไหมมรณกรรมไม่ถือเป็นมรดก ไม่มีภาระทางภาษี
- ค่าเบี้ยลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 100,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
คำเตือน
- ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
- เป็นกรณีกรมธรรม์ไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์หรือระบุไว้แต่เสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกันภัย