นำเสนอโซลูชันการเงินเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำของภูมิภาค ที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมสีเขียว เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่า
กรุงศรี ภายใต้เครือ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สานต่อความมุ่งมั่นสู่การเป็น "ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน" ด้วยการสนับสนุนงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) นำเสนอแนวคิดและโซลูชันทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยยังคงเดินหน้าผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ยั่งยืนด้วยการรวมพลังจากทุกภาคส่วน
การร่วมงาน SX 2024 ในครั้งนี้ กรุงศรีได้จัดกิจกรรมต่างๆ ไว้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสและเข้าใจถึงความสำคัญของการเงินที่ยั่งยืน รวมถึงโอกาสที่จะร่วมกันสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน
โดยภายในงานยังมีการนำเสนอโซลูชันและโครงการที่กรุงศรีได้พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดในการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน นับเป็นการสะท้อนถึงการเป็นผู้นำด้านการเงินที่ยั่งยืนของกรุงศรี ที่ได้นำเสนอแนวทางการเงินเพื่ออนาคตที่ครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้ Mr. Nicholas Gandolfo, Director, ESG Finance, Asian Investment Banking Division, MUFG ได้ให้เกียรติเป็นตัวแทนจากสถาบันการเงินเข้าร่วมงานสัมมนา ASEAN Circular Economy Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน SX 2024 และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำธุรกิจจากหลากหลายภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ในการส่งเสริมภาคเอกชนให้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ "Strengthening the Regional Ecosystem for Circular Startups"
ซึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันการเงินในการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมวิธีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน เช่น การพัฒนา Green Bonds และ Sustainability-Linked Bonds รวมถึงการสร้างรูปแบบการเงินผสม (Blended Finance) ที่เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรการกุศล เพื่อลดความเสี่ยงและกระจายการลงทุนให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม
"บทบาทของสถาบันการเงินในการขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสองกลุ่มทุนหลักที่สถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อนการลงทุน ได้แก่ ทุนด้านตราสารทุน (Equity Funds) และตราสารหนี้ (Debt Instruments) โดยในฐานะสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้ว่าบางครั้งจะมีข้อจำกัดในเรื่องความเสี่ยงและอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายนัก" Gandolfo กล่าว
ในกลุ่มแรกคือ กองทุนตราสารทุน ซึ่งรวมถึงกองทุนที่มุ่งเน้นด้าน Fin Tech, Climate Tech และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน สถาบันการเงินมองว่าการลงทุนในกลุ่มนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ด้านหนี้สินที่สถาบันมี ซึ่งปกติแล้วการให้สินเชื่อจะเกิดขึ้นในช่วงหลังของวัฏจักรการเติบโตของธุรกิจ แต่หากสามารถเรียนรู้และเข้าใจโมเดลธุรกิจได้ดี ก็อาจทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมสินเชื่อที่เข้าใกล้ความเสี่ยงของการลงทุนตราสารทุนได้มากขึ้น
"ธนาคารมีบทบาทสำคัญในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะการออกและจัดการพันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) และพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds) ในเอเชีย นอกจากนี้ บทบาทของธนาคารยังขยายไปถึงการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มการเงินผสม (Blended Finance) ซึ่งเป็นแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคองค์กรการกุศล เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในการลงทุนในโครงการที่มีความท้าทาย การเงินผสมนี้ (Blended Finance) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยจัดสรรเงินทุนให้กับธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีผลงานแต่มีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม"
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาทางการเงินสำหรับสตาร์ทอัพกลับไม่สามารถก้าวตามได้ทัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Venture Debt ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อโดยใช้ความสามารถในการระดมทุนของบริษัทเป็นหลักประกัน แนวคิดนี้ช่วยให้บริษัทที่ยังไม่มีรายได้คงที่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถพัฒนาการให้ทุนในระดับกองทุนเพื่อลดขั้นตอนการวิเคราะห์ธุรกิจเป็นรายบริษัท และการจัดตั้งกองทุนร่วมกับพันธมิตรหลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการกุศล และธนาคารพัฒนา เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่กำลังเติบโตคือการสร้างรายได้จากเครดิตคาร์บอน ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดในการสนับสนุนธุรกิจที่มุ่งเน้นการลดคาร์บอน เช่น การสนับสนุนให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนด เพื่อให้เกิดการสร้างเครดิตคาร์บอนใหม่ๆ ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในสตาร์ทอัพทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติมจากการขายเครดิตคาร์บอนและดึงดูดการลงทุนจากสถาบันการเงิน
"หนึ่งในความท้าทายที่สตาร์ทอัพต้องเผชิญคือการสร้างความน่าเชื่อถือและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาจดีเลิศ แต่หากยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจจริงก็อาจเป็นอุปสรรคในการระดมทุน ดังนั้น ธนาคารและนักลงทุนจึงต้องประเมินทั้งโมเดลธุรกิจและความสามารถของทีมบริหาร ในกรณีที่ยังไม่มั่นใจในศักยภาพของทีมบริหาร การสร้างโครงสร้างการเงินผสมก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการลดความเสี่ยง"
โดยสรุปการเสวนาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุน
การเติบโตของสตาร์ทอัพในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการพัฒนารูปแบบการเงินใหม่ๆ เช่น การเงินผสมและการสร้างรายได้จากเครดิตคาร์บอน เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้นและมีโอกาสในการขยายตัวมากขึ้นในอนาคต
SX 2024 ถือเป็นงานที่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการผนึกกำลังระหว่างภาคธุรกิจและสังคมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และกรุงศรีพร้อมจะเป็นผู้นำในบทบาทการเงินที่ยั่งยืนเพื่อเชื่อมโยงทุกคนไปสู่โลกที่ดีกว่า ผ่านการนำเสนอโซลูชันและโครงการที่เน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมสีเขียว โดยเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน
ในอนาคต กรุงศรี ภายใต้เครือ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจและสังคมในยุคที่ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสและความเติบโตในระยะยาว ให้กับทั้งธุรกิจและชุมชนทั่วภูมิภาค
ด้วยความมุ่งมั่นนี้ กรุงศรีเชื่อว่าการเงินไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือ แต่เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่าและสร้างความสมดุลให้กับโลกใบนี้อย่างแท้จริง