เปิดมุมมองการลงทุนจากรุ่นสู่รุ่น พจนา–กมลพรรณ พะเนียงเวทย์ แห่งครอบครัวมาม่า - Forbes Thailand

เปิดมุมมองการลงทุนจากรุ่นสู่รุ่น พจนา–กมลพรรณ พะเนียงเวทย์ แห่งครอบครัวมาม่า

เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "มาม่า" ของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA อยู่เคียงข้างสังคมไทย และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนก้าวสู่ผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย พร้อมวางจำหน่ายไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก ด้วยวิสัยทัศน์ของพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมส่งต่อแนวคิดจากรุ่นสู่รุ่น สู่เจเนอเรชันที่ 2 และ 3 อย่างพจนาและกมลพรรณ ที่มีสไตล์การดำเนินชีวิตและมุมมองในการลงทุนที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นอย่างดีจากครอบครัวมาม่าแห่งนี้


​คุณพจนา พะเนียงเวทย์ และ คุณกมลพรรณ เลิศประภาพงศ์

"ที่มาม่าเป็นครอบครัวใหญ่ มีกฎระเบียบพอสมควรในเรื่องการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อต้องเล่นกีฬา เล่นดนตรี ซึ่งวันนี้ได้รู้แล้วว่าเป็นการฝึกฝนให้เราพัฒนาในทุกด้าน นอกเหนือจากการเรียนรู้ เรายังได้สมาธิ ทำให้มีความรับผิดชอบ และช่วยในเรื่องความจำ และสิ่งเหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงดูลูกเช่นเดียวกัน" พจนา พะเนียงเวทย์เล่าถึงวิถีชีวิตในวัยเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดู ฝึกฝนเป็นอย่างดีจากพิพัฒ และได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการเลี้ยงดูบุตรสาว กมลพรรณ เลิศประภาพงศ์ ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของครอบครัวมาม่า

​ด้วยวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของครอบครัวมาม่าที่ต้องการให้เจเนอเรชันต่อไปมีแนวคิดของความเป็น Global Citizen ครอบครัวพะเนียงเวทย์จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทั้งพจนาและกมลพรรณ ได้เปิดโลกทรรศน์ด้วยการไปศึกษาต่อต่างประเทศ แม้จะเป็นคนละยุคคนละสมัย แต่ทั้งคู่มองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดและสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดการดำเนินชีวิตและการบริหารธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การไต่สู่ระดับความสูงของยอดเขาไปได้เรื่อยๆ

​การให้ความสำคัญกับศึกษาของพจนา ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความที่ต้องย้ายบ้านให้ใกล้กับโรงเรียนลูกมากที่สุดเพื่อความสะดวกในการเดินทาง การเก็บออมเพื่อซื้อบ้านจึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับพจนาในช่วงเริ่มต้นสร้างครอบครัว และด้วยภาระที่มีจึงพยายามผ่อนบ้านให้เร็วที่สุด เมื่อลูกจบบ้านที่อยู่อาศัยก็ผ่อนหมด และสามารถนำไปปล่อยให้เช่าได้ พอย้ายบ้านใหม่ ก็มีรายได้จากค่าเช่าบ้านหลังเดิมมาผ่อนต่อ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้ค่อนข้างดีในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโต ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากในขณะนั้น


"ในช่วงสร้างครอบครัวเราทั้งเก็บออม ทั้งลงทุน ซึ่งพันธมิตรทางการเงินก็คือธนาคารกรุงศรีฯ ที่เก็บออมผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ประจำที่ได้ดอกเบี้ยสูง การซื้อกองทุน LTF, RMF จนกลายมาเป็นการต่อยอดใช้บริการ KRUNGSRI PRIVATE BANKING ที่ต่อยอดการลงทุนเพื่อบริหารสินทรัพย์ส่วนตัวในหุ้นและตราสารหนี้ ข้อดี คือ มีจะมีการอัปเดตให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เหมือนมีผู้ช่วยดูแลด้านการเงิน เพื่อมีเวลาไปทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน"



เรื่องการบริหารการเงินและการใช้ชีวิตถือเป็นแนวคิดที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวมาม่า พจนาเล่าว่า บิดา (พิพัฒ) สอนเรื่องการใช้เงินตั้งแต่เด็ก พอเริ่มทำงานได้ เน้นย้ำมากๆ ให้แบ่งเงินอย่างน้อย 10% ไว้เป็นเงินออม พอแต่งงาน มีลูก ต้องเก็บเงินไว้ผ่อนบ้าน สร้างครอบครัว อยากจะซื้ออะไรให้เก็บเงินไว้ซื้อเอง ดีเอ็นเอนี้ส่งต่อถึงลูกสาวกมลพรรณ (เมย์) ทุกวันนี้กมลพรรณเน้นการบริหารจัดการเงิน จัดสรรไว้เป็นส่วนๆ และไม่ลืมที่จะเก็บส่วนหนึ่งใส่ซองไว้ให้คุณตาทุกเดือน

"สำหรับเมย์ การได้ไปใช้ชีวิตที่เมืองนอก ทำให้ต้องจัดสรรเงินไว้สำหรับการจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่ากิน แต่ที่ไม่ลืมคือเงินเก็บ เมย์เก็บเงินกับบัญชีออมทรัพย์มีแต่ได้ที่ให้ดอกเบี้ยสูง รวมทั้งแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งทุกวันนี้ยังลงทุนเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ อย่างเมย์ชอบเรื่องอาหาร เราก็ลงทุนไปชิม ไปสัมผัสกับบรรยากาศและรสชาติของอาหาร เพื่อมองหาเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ถือเป็นการบาลานซ์ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่เมย์ให้ความสำคัญมากเช่นเดียวกัน"

"การทำงานให้เหมือนกับไปเที่ยว ได้ไปเยี่ยมญาติ หรือลูกค้า" ดูเหมือนจะเป็นดีเอ็นเอของครอบครัวมาม่าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และโอกาสใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นจากการไปหาประสบการณ์จากภายนอก สำหรับกมลพรรณ จากการที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสิงคโปร์ที่ถือเป็นฮับของสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในโลก ทำให้มีมุมมองการลงทุนที่เปิดกว้าง เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่แน่นอนอาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน กมลพรรณได้ใช้มุมมองของคนรุ่นใหม่ เข้ามารับผิดชอบการลงทุนในธุรกิจใหม่ของมาม่า รวมทั้งเข้าร่วมในกองทุน Finnoventure Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสตาร์อัพของธนาคารกรุงศรีฯ ที่ทำให้รู้จักกับธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น และต่อยอดการบริหารสินทรัพย์ส่วนตัวกับ KRUNGSRI PRIVATE BANKING เพิ่มด้วย

ดังนั้น ความหมายของการสร้างความมั่งคั่งของกมลพรรณคือ การลงทุนเพื่อเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีโอกาสเข้ามาจะทำให้มีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น และทำให้ประสบความสำเร็จได้ "แม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และจะเสี่ยงกว่าหากไม่ทำอะไรเลย" กมลพรรณกล่าว

สำหรับคำจัดความความมั่งคั่งของอีกเจเนอเรชันอย่างพจนาคือ "มีเท่าไร ใช้น้อยกว่าที่มี" พร้อมขยายความว่า ถ้ามีเงิน 100 บาท ใช้ 99 บาท ก็สามารถรวยได้ แต่ถ้ามีเงิน 100 บาท แต่ใช้ 101 บาท ก็ไม่มีวันรวย สะท้อนถึงแนวคิดในการบริหารเงินของครอบครัวมาม่าที่ถูกถ่ายทอดกันมาคือ "มีเงินให้เก็บออม" และ "ลงทุนเพื่อการเรียนรู้" อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

วันนี้ครอบครัวพะเนียงเวทย์เป็นแกนหลักในการบริหารธุรกิจ พจนาและกมลพรรณ พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ส่งต่อให้ทีมงานและพนักงานกว่า 6,000 คน ที่เป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ การสร้างพื้นฐานจากครอบครัวที่ดี มุมมองในการใช้ชีวิต การบริหารสินทรัพย์ และการมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะนำพาธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอีก 50 ปีข้างหน้า และพร้อมที่จะส่งต่อความรู้ให้กับสังคมผ่านการแชร์ประสบการณ์และสนับสนุนองค์กรต่างๆ เพื่อให้ก้าวทันโลกที่หมุนไปข้างหน้าตลอดเวลา