กรุงศรีประกาศแผนขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างการเติบโตในอาเซียน ภายใต้แนวคิด GO ASEAN with krungsri ผสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกรุงศรี MUFG และพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ ทั้งในประเทศ และอาเซียน ส่งต่อความเชี่ยวชาญ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภครายย่อย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอัตราการเติบโตของจีดีพีไทยที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่มีอัตราการเติบโต 5 – 6% ตลาดในอาเซียนมีศักยภาพและโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 100 ล้านคนขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นแรงงานวัยหนุ่มสาว ที่ถือเป็นโอกาสทองของกรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) และเครือข่ายพันธมิตรที่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว
"กรุงศรีให้ความสำคัญกับอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และต้องการพาลูกค้าของเราให้ไปเติบโตในตลาดอาเซียน โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายในระดับภูมิภาคของ MUFG เพื่อสร้างการเติบโตข้ามพรมแดน โดยกรุงศรีได้ลงทุนซื้อกิจการ 6 บริษัท กระจายอยู่ใน 5 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 19 ล้านราย จากความเชี่ยวชาญของกรุงศรีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและบริษัทลูกในต่างประเทศจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับกรุงศรีและลูกค้าของเราเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต" พัทธ์หทัย กุลจันทร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจอาเซียน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จในการขยายเครือข่ายธุรกิจกรุงศรีในอาเซียน
กรุงศรี เริ่มดำเนินธุรกิจในอาเซียน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากก่อตั้งกรุงศรี ลิสซิ่งในประเทศลาว ปัจจุบันมีการขยายพอร์ตเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรถยนต์ สู่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล จากนั้นได้เข้าซื้อกิจการ Hattha Kaksekar ไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา ปัจจุบันยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีกว่า 170 สาขาในประเทศกัมพูชา ในปี 2563 และปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ร่วมลงทุน 50% ใน SB Finance ของฟิลิปปินส์ กระทั่งในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงศรีรุกหนังเข้าซื้อถึง 3 กิจการ ประกอบด้วย SHB Finance ของเวียดนาม Home Credit Philippines และ Home Credit Indonesia ซึ่งแต่ละบริษัทเป็นผู้นำในตลาดของประเทศนั้นๆ ด้วยจุดแข็งของเครือข่ายกรุงศรี และ MUFG ภายใต้ระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจ ดังต่อไปนี้
- กรุงศรีใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและความแข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG ทำให้บริษัทในเครือในต่างประเทศมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ
- กรุงศรีได้ส่งต่อโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคให้กับบริษัทในเครือในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเทศ
- กรุงศรีให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ภายใต้โครงการ ASEAN Privilege อย่างการจับมือกับคิง เพาเวอร์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้สิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์และการช้อปปิ้งให้กับลูกค้านักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และล่าสุดกรุงศรีได้จับมือกับเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เพื่อขยายบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เจาะกลุ่มลูกค้าในอาเซียนให้มากขึ้น
จากแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้กรุงศรีประสบความสำเร็จในการขยายพอร์ตสินเชื่อในภูมิภาคอาเซียน โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจกรุงศรีในอาเซียน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - กันยายน 2567) มีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 104,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของสินเชื่อรวม และมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 20% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นจาก 13% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เฉลี่ยอยู่ที่ 23.2% สูงกว่า NIM ในประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 3 – 4% และในปีนี้กรุงศรียังมุ่งสร้างเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในอาเซียน โดยล่าสุดได้ยื่นขอเข้าซื้อและรับโอน 50 % ที่คงเหลือจากการซื้อและรับโอนส่วนของทุนครั้งแรก ใน SHB Finance ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2568
พัทธ์หทัย กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในอาเซียน ในปี 2568 กรุงศรีจะมุ่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย
- ปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง (Business Transformation) โดยแต่ละบริษัทจะมีการกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดและสถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของสาขา และเร่งขยายฐานผู้ใช้งานโมบายแอปพลิเคชันของ Hattha Bank รองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในกัมพูชา
- เพิ่มความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้ (Revenue Strengthening) เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และรักษาฐานลูกค้าเดิม สำหรับ Home Credit Philippines และ Home Credit Indonesia ผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค โดยจะพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ แบบ ONE RETAIL การโคแบรนด์กับห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น รวมถึงการขายประกันผ่านช่องทางธนาคารที่มีการเติบโตสูงมากในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
- เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Productivity & Efficiency) การนำเทคโนโลยีRobotic Process Automation เข้ามาช่วยในด้านการปฏิบัติงาน ทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือที่มีอยู่ ให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น ช่วยขยายฐานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล
"กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เน้นรักษาความเป็นผู้นำในแต่ละตลาด โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการ และการขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ลูกค้าท้องถิ่นในแต่ละประเทศได้เข้าถึงนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด GO ASEAN with krungsri สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอาเซียนกับกรุงศรี" พัทธ์หทัย กล่าวทิ้งท้าย