สรุป! ธนาคารที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% นาน 6 เดือน เริ่มเมื่อไรบ้าง - Forbes Thailand

สรุป! ธนาคารที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% นาน 6 เดือน เริ่มเมื่อไรบ้าง

แม้การประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ยัง “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของไทยที่อยากให้ธนาคารต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง หลังจาก 25 เม.ย. ที่สมาคมธนาคารไทยประกาศ แนวทางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม พบว่าหลายธนาคารทยอยประกาศการลดดอกเบี้ยเงินกู้


*ณ 2 พ.ค. มี 6 ธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแล้ว

    เมื่อ 26 เม.ย. เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในฝั่งสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารกรุงเทพที่ออกมาทยอยประกาศการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยแล้ว


สมาคมสถาบันการเงินของรัฐสั่งลดดอกเบี้ยรายย่อยทุกกลุ่ม

    เริ่มกันที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อ 25 เม.ย. 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดย 6 สถาบันการเงิน จะร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 ได้แก่

    - ธนาคารออมสิน (GSB)
    - ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
    - ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
    - ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
    - บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
    - ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank)

    ทั้งนี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อย ด้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR)

    ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้


แบงก์พาณิชย์ทยอยประกาศลดดอกเบี้ย "ช่วยเฉพาะกลุ่ม-จำกัดวงเงิน"   

    ฝั่งธนาคารพาณิชย์ เริ่มที่ ธนาคารกรุงเทพ ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

    ธนาคารกรุงเทพยังมีโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ “สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ” วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี สามารถขอสินเชื่อได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 67 - 31 ม.ค. 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ)

    กระทั่ง 30 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 พ.ย.67 ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่
    1. ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล
    2. ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท
    3. ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท

    ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท

    ในวันเดียวกันนั้น ยังมี ธนาคารกสิกรไทย ออกนโยบายช่วยเหลือเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 2 กลุ่ม โดยปรับลดดอกเบี้ย 0.25% สำหรับเงินกู้ (Loan) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. 2567 ได้แก่

    1. ลูกค้าบุคคลที่ใช้ผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้าน” หรือ “สินเชื่อบ้านช่วยได้” ที่มีวงเงินอนุมัติรวมกับธนาคารกสิกรไทย ไม่เกิน 2,000,000 บาท ตามข้อมูลธนาคาร ณ 31 มี.ค. 2567 และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ตามการประเมินของธนาคาร ณ วันที่ธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวครั้งล่าสุด

    2. ลูกค้า SME ที่มียอดค้างชำระเงินกู้กับธนาคารกสิกรไทย และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนกับธนาคารกสิกรไทย รวมกันแล้วไม่เกิน 2,000,000 บาท ณ 31 มี.ค. 2567 และมียอดขายไม่เกิน 200,000 บาทต่อเดือน ตามการประเมินของธนาคาร ณ วันที่ธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวครั้งล่าสุด

    ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้าเงื่อนไขในโครงการจะต้องมีสถานะหนี้เป็นปกติ และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการอื่นๆ ของธนาคาร อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีจำนวนลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รวม 200,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 82,000 ล้านบาท

    ขณะที่ช่วงค่ำของ 30 เม.ย. พบว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MRR, MLR และ MOR ) ลง 0.25% ต่อปีให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง (ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้า) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2567 - 15 พ.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้แก่

    1. ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 30,000 บาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 2 ล้านบาท

    2. ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ในปี พ.ศ. 2565 ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 5 ล้านบาท 

    นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สำหรับเงินกู้ (Loan) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR และ MLR นาน 6 เดือน (16 พ.ค. -  15 พ.ย. 67) สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่บัญชีสถานะปกติ (ไม่มีการค้างชำระ)  ได้แก่

    1. ลูกค้าบุคคล สินเชื่อบ้าน และ My Home My Cash ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 2 ล้านบาท

    2. ลูกค้าผู้ประกอบการ SME รายย่อย สินเชื่อธุรกิจ ประเภทเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท (โดยพิจารณาจากยอดค้างชำระเงินกู้ระยะยาว และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน) ลูกค้าต้องมียอดสินเชื่อเงินกู้กับธนาคาร ณ 31 มี.ค. 2567 

    จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 240,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อรวมประมาณ 110,000 ล้านบาท

    ในวันที่ 2 พ.ค. 67 ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR MLR และ MOR ลง 0.25% เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน มีผล 16 พ.ค. - 15 พ.ย. 2567 ได้แก่

    1. ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท (ณ 31 มี.ค. 67) และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน

    2. ลูกค้าผู้ประกอบการ SME ทั้งลูกค้าบุคคลและนิติบุคคล ที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท (ณ 31 มี.ค. 67) และมียอดขายไม่เกิน 200,000 บาทต่อเดือน

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารส่วนใหญ่ระบุว่าจะปรับลดดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ (ไม่ต้องลงทะเบียน) และไม่มีค่าธรรมเนียม โดยธนาคารจะแจ้งผู้เข้าร่วมมาตรการผ่าน SMS  (โดยไม่มีการแนบ Link) 



Photo by Evan Krause on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบางลดดอกเบี้ย MRR 0.25% นาน 6 เดือน “ตามคำขอนายกฯ”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine