ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย นอกจากจะปรับตัวลดลงจากปัจจัยนอกประเทศ นักลงทุนยังกังวลต่อหลายกรณี เช่น ประเด็นต่างชาติใช้ Bot ในการซื้อขาย Short sell และประเด็นอื่นๆ ซึ่งทำให้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแล และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กร และกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ความคืบหน้ามาตรการยกระดับการกำกับดูแล” ว่า เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) มีมติเห็นชอบในมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ใน 3 เรื่อง ได้แก่
1. มาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ (เชื่อว่าจะทำให้การขายชอร์ตทำได้ยากขึ้น) โดยมีมาตรการย่อย เช่น
- การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ กรณี Non-SET 100 จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท (จากเกณฑ์เดิมที่ 5,000 ล้านบาท) โดยต้องมีปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ยใน 12 เดือนที่ระดับ 2% (คาดว่ามีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 2/67)
- การเพิ่ม Uptick ให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ ได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) (คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 2/67)
- ตลท.จะจัดทำ Central Platform เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิก และตลาดหลักทรัพย์ฯในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย ซึ่ง ตลท.จะทำแพลตฟอร์มและให้สมาชิกนำส่งข้อมูลเข้ามา คาดว่าจะเห็นในช่วงปลายไตรมาส 4/67
- การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Celling& Floor) เอาไว้เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป (คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปลายไตรมาส 2/67)
- เพิ่มมาตรการ Auction ในหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 โดยกำหนดจะเปิดการซื้อขายแบบ Auction (จับคู่ซื้อขาย) วันละ 3 รอบ เพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ โดยจะสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ (คาดว่าจะบังคับใช้ในไตรมาส 3/67)
2. มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม นอกจากรายละเอียดที่ได้ออกหนังสือเวียนไปช่วงกลางเม.ย. 67 ที่ผ่านมา ยังมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น
- เพิ่มการ Auto halt รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดเพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ
- กำหนด Minimum Resting Time หรือเวลาขั้นต่ำของคำสั่งก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกไว้ที่ 250 milliseconds
- Central Order Screening เพื่อคัดกรองคำสั่งว่าตรงกับเกณฑ์ของ ตลท. หรือไม่ หากพบความไม่เหมาะสมจะ Reject
- เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่สมาชิกทุกราย
- สำหรับผู้ใช้ HFT ต้องลงทะเบียนกับทาง ตลท. หากทำผิดกฎเกณฑ์อาจนำสู่การยกเลิกการบริการ
3. มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน มีทั้งการเพิ่มความโปร่งใสต่อ Public การเพิ่มบทลงโทษ และการเปิดเผยข้อมูลการถือ NVDR (ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย)
นอกจากนี้จะมีการลดค่าธรรมเนียมการแปลง NVDR เป็นหุุ้นไทย ในช่วง 1 มิ.ย. ถึง 31 ธ.ค. 2567 นี้เพื่อจูงใจนักลงทุน แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีการแปลงกลับมาน้อยแค่ไหน คนไทยที่ถือครอง NVDR มีจำนวนอยู่หลักหมื่นราย ในขณะที่ด้านมูลค่าคาดว่าจะอยู่ราว 70,000 ล้านบาท ดังนั้นหากคำนวนการลดค่าธรรมเนียมในการแปลง NVDR นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมทั้งขาซื้อ-ขาขายรวมราว 7 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในหลักการของมาตรการต่างๆ ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากทำรายละเอียดแล้วจะมีการส่งเรื่องไปที่ ก.ล.ต. ต่อไป
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จับตาว่าที่รมว.คลัง ใหม่ “พิชัย ชุณหวชิร” ล่าสุดแจ้งลาออกประธานบอร์ด “ตลท.-บางจาก-BCPG-BBGI”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine