เดือน พ.ค. 67 นี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 5.0% จากสิ้นปีก่อน เพราะนักลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังปรับคณะรัฐมนตรี ส่วนปัจจัยโลกยังคงติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูง และสถานการณ์ความขัดแย้งในในทะเลแดง
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เปิดเผยว่า สิ้นเดือน พ.ค. 2567 ดัชนีหุ้นไทย หรือ SET Index ปิดที่ระดับ 1,345.66 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า สาเหตุเพราะผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเบิกจ่าย เงื่อนไขต่างๆ และการสนับสนุนตลาดทุน (เช่น การนำกองทุน LTF กลับมา) หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยโลกยังมีเรื่องที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ หลังจาก IMF ประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูงกระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว
ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. 2567 พบว่า ในด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2567 มาอยู่ที่ 45,612 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 16,566 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25
ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่มบริการ สอดคล้องกับภาพรวม บริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ยังมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม
นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนเกินครึ่งรายงานกำไรสุทธิสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ valuation ของหุ้นไทยหลาย sector ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
ทั้งนี้ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 3.48% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18%
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : YLG ชี้ ‘ทองคำโลก’ ขุดได้อีก 19 ปี หากไม่พบสายแร่ใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine