นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติอนุมติในหลักการจะปรับเกณฑ์ให้กองทุนรวมสามารถเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ภายในเดือน พ.ค. 2567 นี้
ทั้งนี้ การเปิดให้กองทุนรวมเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Investment Token ที่ ก.ล.ต. มองว่ามีความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ และ Cryptocurrency ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง และมีความผันผวนด้านราคาสูง
เบื้องต้นทาง ก.ล.ต. จะมีการกำหนดเกณฑ์ให้กองทุนรวมสามารถเข้าลงทุนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น BITCOIN ETF ฯลฯ) อีกทั้งจะกำหนดว่ากองทุนประเภทใดสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในสัดส่วนใด รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมุ่งเน้นใน 2 เกณฑ์หลักคือ
- ประเภทของกองทุน เช่น กองทุนสำหรับรายย่อย ต้องดูด้านความเสี่ยงว่า หากกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงหรือต่ำจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้นต้องมีการจำกัดสัดส่วน Cryptocurrency ที่เท่าใด อีกทั้งต้องมีกฎเกณฑ์ด้านการโฆษณาที่โปร่งใส ชัดเจนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าไปลงทุน ขณะที่หากเป็นกองทุนเพื่อนักลงทุนสถาบันอาจจะพร้อมรับความเสี่ยงการลงทุนใน Cryptocurrency ได้มากกว่ารายย่อย
- ด้านนักลงทุน ต้องดูเรื่องความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหนในแต่ละกลุ่ม
นอกจากนี้ ในด้านเทคโนโลยีต่อการพัฒนาตลาดทุน ทาง ก.ล.ต. ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่องการใช้ Investment Token เพื่อการระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจิทัลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Soft power ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการทำเพลงออกมาขายในตลาดและมีการออก Token ของเพลงให้นักลงทุนซื้อได้ ดังนั้นเมื่อเพลงดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จากช่องทางต่างๆ ทางเจ้าของเพลงจะได้ส่วนแบ่งและจะนำไปกระจายรายได้ให้กับผู้ถือ Token
ดังนั้นการทำ Investment Token เพื่อการระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจิทัลของภาครัฐ อย่าง Soft power จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น วงการภาพยนตร์ เพลง อื่นๆ โดย ก.ล.ต. จะมีการ Hearing ในช่วง พ.ค. 67
อย่างไรก็ตาม ทาง ก.ล.ต. ยังมุ่งพัฒนา Digital infrastructure โดยยังมองความเป็นไปได้ในการออก Tokenization ในพันธบัตร หุ้นกู้ เพื่อกระจายให้เข้าถึงรายย่อย ตอนนี้เร่งรัดอยู่น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังเตรียมทำ Standardized ในหุ้นกู้เอกชนที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลกัน อาจใช้วิธีการ API หรือ Blockchain เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อสามารถซื้อหุ้นกู้ได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวทุกครั้ง หรือหากเกิดการผิดนัดชำระขึ้น (Default) ขึ้นจะมีการแสดงข้อมูลขึ้นแบบ Real-Time
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บริษัทแม่ 7-Eleven ในญี่ปุ่น ประกาศขยายสาขาไปทั่วโลก ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 100,000 สาขาในปี 2030
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine