ช่วงที่ผ่านมา หุ้นบางบริษัทมีประเด็นปัญหา เช่น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่นำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ แต่เมื่อราคาหุ้นร่วงลงจึงถูกบังคับขาย (ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้) และบางเคสนำสู่ราคาหุ้นร่วงลงจนกระทบต่อนักลงทุนรายย่อย ส่งผลให้หน่วยงานผู้กำกับอย่าง ก.ล.ต. รวมถึง ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือร่วมกัน และเตรียมร่างกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเปิดเผยข้อมูล ธุรกรรมที่ใช้หุ้นเป็นหลักประกันหนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้จะมีความชัดเจน ทั้งหลักการและขอบเขตต่างๆ รวมถึงจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาการออกหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรายงานธุรกรรมการใช้หุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืม แม้การกู้ยืมเงินโดยใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์คำ้ประกันสามารถทำได้ตามสิทธิของผู้ถือหุ้น แต่ปัจจุบันพบว่ามีการนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือ Custodian (ทั้งในและต่างประเทศ) โดยมีสัญญาที่ไม่รัดกุมพอ ซึ่งบางกรณีนำไปสู่การบังคับขาย (ทำให้ราคาหุ้นร่วงลง)
ดังนั้นจากเหตุนี้ ก.ล.ต. จึงมองว่ามีส่วนที่ควรระมัดระวัง และจะเข้าไปกำกับดูแลเพิ่มเติมโดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าจะทำในรูปแบบขอบเขตครอบคลุมเพียงใด ใช้หลักกฎหมายใด ซึ่งจะรวมถึงลักษณะของผู้ที่ต้องรายงานข้อมูล เช่น กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ ฯลฯ หรือธุรกรรมสัดส่วนเท่าใดจึงจะมีนัยสำคัญต่อหุ้นและต้องรายงาน เป็นต้น
ในหลักการ รายงานนี้เกิดขึ้นเพื่อให้แก่นักลงทุนสามารถพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ โดยอาจต้องพิจารณาถึงผู้ทำธุรกรรมเหล่านี้ควรมีความรู้ความเข้าใจเพียงใด โดยย้ำว่าธุรกรรมที่มีความซับซ้อนควรต้องดู 1) ความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา 2) เงื่อนไข 3) ผลประโยชน์จากหลักทรัพย์จะแบ่งสรรอย่างไร
เบื้องต้นคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 นี้จะมีความชัดเจน ทั้งหลักการและขอบเขตต่างๆ จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะเริ่มบังคับภายใช้ในปี 2568
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ โฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเกิดคำถามจากนักลงทุนรายย่อยว่าทำไมราคาหุ้นตกลง ซึ่งในทางทฤษฎีการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันแล้ว หากมีการผิดนัดชำระหนี้จะส่งกระทบต่อราคาหุ้นให้ตกลงได้ โดยปัจจุบันการนำหุ้นไปเป็นหลักประกัน มี 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. การส่งมอบหลักทรัพย์ให้ ‘ผู้ให้กู้’ ถือไว้เป็นหลักประกัน (ไม่ได้โอนสิทธิ)
1.1) การกู้ยืมกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Margin Loan) จะให้ บล. บันทึกข้อมูลการใช้หุ้นเป็นหลักประกันตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ม.195 กฎหมายหลักทรัพย์) ซึ่งบล. จะไม่สามารถนำหุ้นที่เป็นหลักประกันไปทำอย่างอื่นได้
1.2) การกู้ยืม/ขอวงเงินกับ Credit Provider (Lender) หรือ การจำนำหุ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- การบันทึกข้อมูลในระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือ TSD เช่น เมื่อนำหุ้นไปจำนำกับ บล. จะมีการระบุในหุ้นว่า “จำนำ”
- ไม่บันทึกข้อมูลหลักประกันในระบบ TSD เช่น หากนำหุ้นไปค้ำประกันกับผู้ให้กู้ หรือ Custodianในประเทศ/ต่างประเทศ ซึ่งผู้ให้กู้สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ได้เมื่อเกิด Trigger Event ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา (ส่วนนี้ที่ ตลท. จะไม่มีข้อมูล)
2. การโอน/ขายหลักทรัพย์ให้กับผู้กู้ (โอนขาด) และจะมีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหลักทรัพย์
ผู้กู้ (เจ้าของหุ้น) อาจตกลงใช้หุ้นไปค้ำประกันการกู้ยืม และโอนหลักทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกัน โดยอาจทำสัญญาโอน (คืน) หุ้น เมื่อผู้กู้ทำตามเงื่อนไขในสัญญาครบถ้วน (ส่วนนี้ที่ ตลท. จะไม่มีข้อมูล)
ที่ผ่านมาพบกรณีว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อาจได้รับการชักชวนจากนายหน้า Share Financing เช่น ชวนจำนำหุ้นมาเป็นหลักประกันโดยให้ดอกเบี้ยจูงใจ ฯลฯ ซึ่งหากไม่เท่าทัน หรือกระทำอย่างไม่รัดกุมอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สยามคูโบต้า มั่นใจรายได้ปี 67 แตะ 6 หมื่นล้านตามเป้า หลังยอดขาย 3 ไตรมาสโต 23%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine