ก.ล.ต. เดินหน้าหนุนเทรนด์ยั่งยืนผ่านตราสารหนี้-ทรัสต์ 9 หวังขยาย Carbon Credit สำหรับซื้อขาย - Forbes Thailand

ก.ล.ต. เดินหน้าหนุนเทรนด์ยั่งยืนผ่านตราสารหนี้-ทรัสต์ 9 หวังขยาย Carbon Credit สำหรับซื้อขาย

ช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 9 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการออกตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืนกว่า 112,373 ล้านบาท ล่าสุดเร่งผลักดัน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม หรือ GIT ที่คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดีอน ธ.ค. 67 นี้ เชื่อว่าหากเกิดทรัสต์กลุ่มนี้มากขึ้น ต่อไปจะมีจำนวน Carbon Credit ที่ใช้ในการซื้อขายมากขึ้นในอนาคต


    นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ความยั่งยืนถือเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญมาตลอด ขณะเดียวกันยังถือเป็นจุดขายของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา จึงสนับสนุนการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond), ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond), ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่ารวมกว่า 112,373 ล้านบาท (ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 193,793 ล้านบาท)


    นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการผลักดันทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT) หลังจาก 1 ส.ค. 67 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักการในการออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและจัดการ GIT เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร โดยเบื้องต้นจะเปิดขายให้นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ไม่เปิดให้นักลงทุนรายย่อย)

    โดยทรัพย์สินหลักที่กำหนดให้กองทรัสต์ GIT ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

    1) กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตรเพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

    2) สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการตาม (1) โดยที่ดินต้องอยู่ในประเทศไทย และอย่างน้อยโครงการทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) กับ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

    ทั้งนี้ กองทรัสต์ GIT ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) หรือเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

    อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากทรัสต์ฯ กลุ่มนี้เกิดมากขึ้น จะส่งผลให้จำนวน Carbon Credit ที่สามารถนำไปซื้อขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

    นอกจากนี้ ความคืบหน้าของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) พบว่า ณ 6 พ.ย. 67 มีกองทุน Thai ESG รวม 34 กองทุน เพิ่มขึ้น 12 กองทุน จากสิ้นปี 2566 จำนวน 12 กองทุน โดยเป็นกองทุนที่ขอจัดตั้งใหม่ 9 กองทุน และ 3 กองทุนเป็นกองทุนเดิมที่ขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่ม class Thai ESG (ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับกองทุน Thai ESG ที่จัดตั้งใหม่)

    ทั้งนี้ เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 4/67 นี้ ประเมินว่าจะมีผู้ลงทุนมากขึ้น เพราะเป็นช่วงท้ายปีของการลดหย่อนภาษี ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องจะได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้น

    *กองทุน Thai ESG ณ 30 ก.ย. 2567 มีทั้งหมด 26 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 10,046 ล้านบาท



ภาพ: ก.ล.ต.



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'กลุ่มดุสิตธานี' ปักหมุด 'เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์' รีสอร์ตระดับลักชัวรีแห่งแรกในอินเดีย พร้อมเปิดให้บริการมีนาคม 2571

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine