ก.ล.ต. เร่งศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาฯ ชดเชยความเสียหายนักลงทุน ส่วน Thai ESG พร้อมปรับเกณฑ์แล้ว - Forbes Thailand

ก.ล.ต. เร่งศึกษาตั้งกองทุนเยียวยาฯ ชดเชยความเสียหายนักลงทุน ส่วน Thai ESG พร้อมปรับเกณฑ์แล้ว

ก.ล.ต. เผยกำลังศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนเยียวยาฯ ชดเชยความเสียหายให้นักลงทุน ซึ่งอาจต้องแก้กฎหมายเพื่อนำเงินบางส่วนจากมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เคยนำส่งคลัง มาตั้งกองทุนฯ ใหม่ ด้านกองทุน Thai ESG หลังมติครม. ออกวันนี้ พร้อมเดินหน้าปรับเงื่อนไขเต็มที่


    นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ลงทุน ผ่านเคสในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งมีความซับซ้อน รวมถึงมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การเยียวยาจากกรณีการปั่นหุ้น/ทุจริต ฯลฯ

    ส่วนสำคัญ คือ ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ทราบทั้ง ผู้ที่ได้รับความเสียหาย และค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจะเป็นรูปแบบใด ซึ่งส่วนที่ท้าทายคือ ด้านการบริหารจัดการในกองทุน รวมถึงจะเป็น ก.ล.ต. ดูแลหรือมีหน่วยงานอื่นใด เข้ามาบริหารจัดการกองทุนเยียวยานี้ฯ

    ในส่วนของไทยเบื้องต้น อาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อนำเงินที่ได้จากมาตรการลงโทษทางแพ่งมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาฯ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะนำส่งให้กระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ได้แก่ เงินค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ค.) ปี 2567 มีอยู่ที่

    - ค่าปรับทางแพ่ง 266.88 ล้านบาท

    - ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ อยู่ที่ 171.41 ล้านบาท

    - ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ อยู่ที่ 2.39 ล้านบาท (ส่วนนี้จะส่งกลับมาที่ ก.ล.ต.)

ขณะที่ปี 2566 มียอดรวมได้แก่

    - ค่าปรับทางแพ่ง 238.81 ล้านบาท

    - ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ อยู่ที่ 156.20 ล้านบาท

    - ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ อยู่ที่ 1.20 ล้านบาท

    ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่ากองทุนเยียวยาฯ จะเป็นรูปแบบใด โดย ก.ล.ต.จะนำหลักการ และวิธีปฎิบัติต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ให้อนุมัติก่อน และส่งต่อยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปี

    นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า กองทุนเยียวยาฯ ยังมีความซับซ้อนในหลายจุด เช่น จะครอบคลุมในกรณีใด การชดเชยค่าเสียหายจะมีวิธีการคำนวนผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร แต่เบื้องต้นการชดเชยความเสียหายอาจต้องเป็นกรณีๆ ไป เช่น ผู้เสียหายจากกรณี A จะได้รับค่าชดเชยฯ เมื่อเม็ดเงินค่าชดใช้ฯ จากกรณี A ได้เข้ามาสู่กองทุนเยียวยาฯ ไม่ได้นำเงินในกองทุนเยียวยาฯ จากกรณีอื่นมาจ่ายแทน

    ด้านความคืบหน้ากองทุน Thai ESG พรอนงค์กล่าวว่า จากมติครม. เรื่องการปรับปรุงมาตรการภาษีและส่งเสริมการลงทุนผ่ากองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (กองทุน Thai ESG) ที่จะออกมาวันนี้ (30 ก.ค. 67) ในฝั่ง ก.ล.ต. จะปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุน Thai ESG โดยคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทุน ในช่วงปลายปีคาดว่าจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าราว 2-3 หมื่นล้านบาท

    การปรับเกณฑ์ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ การขยายวงเงินที่นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้เป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี (เพิ่มจากเดิมที่ 1 แสนบาท/คน/ปี) และการลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือ 5 ปี (เดิมที่ 8 ปี) สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2569

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประเมินผลของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินมาตรการ 3 ปี (2567-2569) และเมื่อมีการใช้กองทุน Thai ESG ที่มีอยู่เดิม ทาง ก.ล.ต. จะดำเนินการปรับเงื่อนไขใน 2 ส่วน ได้แก่

    1. การขยายขอบเขตการลงทุน ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ (1) สามารถลงทุนในหุ้นที่มีมาตรฐาน ESG ตามการประเมินขององค์กรที่หลากหลายขึ้น เพิ่มเติมจากการอ้างอิง SET ESG ratings (2) สามารถลงทุนในหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ มีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan) อย่างชัดเจน มีการรายงานความคืบหน้า และสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

    2. การเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ในการจัดการกองทุน Thai ESG

    อย่างไรก็ตาม ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุน Thai ESG คาดว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับภายในเดือน ส.ค. 2567



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCBX ประกาศเลื่อนปิดแอปฯ Robinhood เฉพาะส่วน Food delivery 'ออกไปก่อน' เผยคนสนใจซื้อกิจการเยอะ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine