“อาหาร” ถือเป็นหนึ่งใน Soft power และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการสร้างโอกาสการเติบโตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับไทย
เพราะนอกจากอาหารไทยจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกมาอย่างยาวนานแล้ว ประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของวัตถุดิบ มาตรฐานการผลิตซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจรอีกด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่ดีในการสนับสนุนและต่อยอดการขับเคลื่อนและส่งออก Soft power ด้านอาหารของไทย
ทั้งนี้ กลไกในการผลักดันยุทธศาสตร์ Soft power ด้านอาหาร สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ เช่น ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ รวมทั้งการเผยแพร่ผ่านผลงานศิลปะและดนตรี
หรือแม้แต่การโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy tourism) เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงเข้ากับประเพณี วิถีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังทำให้ภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งกลไกการผลักดันเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่ากุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ คือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อและสนับสนุนต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านนี้ เพื่อติดอาวุธและสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญประกอบด้วย
- การพัฒนาคน ด้วยการยกระดับศักยภาพของคนไทยให้เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำเป็นแรงงานทักษะสูง รวมถึงการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะความรู้ความสามารถเชิงสร้างสรรค์และทักษะเฉพาะทาง
- การจัดตั้งหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft power ซึ่งปัจจุบันมี THACCA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวก ประสานงานกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในไทย เพื่อปลดล็อกศักยภาพ แก้ปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมาย และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร
- การวางยุทธศาสตร์การส่งออกและการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์ จัดทำแผนและกระบวนการด้านการส่งออกของดีของประเทศไทยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดปลายทาง
นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต SCB EIC มองว่า การผลักดัน Soft power ด้านอาหาร จะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ ร้านอาหาร โรงเรียนสอนทำอาหาร ร้านของฝากและของที่ระลึก หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญ คือ การสร้างมาตรฐานและกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่มีความสอดคล้องและมีทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem รวมถึงการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อตอกย้ำภาพจำที่เด่นชัดกับผู้บริโภคในตลาดโลก
ภาพ: SCBEIC
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'ผัดกะเพรา' ครองแชมป์อันดับ 1 ปี 67 ยอดสั่งซื้อผ่านแอป foodpanda สูงสุดกว่า 800,000 จาน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine