อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยังหวาน! SCB EIC คาดรายได้ปี 2025 ขยายตัวดี ผลผลิตอาจแตะ 10.6 ล้านตัน - Forbes Thailand

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยังหวาน! SCB EIC คาดรายได้ปี 2025 ขยายตัวดี ผลผลิตอาจแตะ 10.6 ล้านตัน

SCB EIC คาดรายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก คาดมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.7%YOY แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบผลผลิตน้ำตาล


    อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยมีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรต้นน้ำในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรปลูกได้ จะกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่โรงงานผลิตได้ โดยผลผลิตน้ำตาลที่ได้ส่วนใหญ่ราว 74.9% จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งในปี 2023 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 3,493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นราว 1.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

    ตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ในปี 2023 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากบราซิลและอินเดีย) โดยมีส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลโลกอยู่ที่ 9.0% ซึ่งอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา จีน เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก



    สำหรับน้ำตาลที่ไม่ได้ส่งออกจะถูกจำหน่ายในประเทศให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนและผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2023 มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ 49,635 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่รวมมูลค่าตลาดจากการที่โรงงานน้ำตาลนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ

    ในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญกับความท้าทายหลักจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยในปีการผลิต 2023/2024 ปริมาณผลผลิตน้ำตาลปรับตัวลดลง 20.1% จากฤดูกาลก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจน้ำตาลโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ในปี 2023/2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากฤดูกาลก่อนหน้า นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ปรับราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานในประเทศขึ้น 10.5% และ 10.0% ตามลำดับ

    SCB EIC คาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลง ปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2024/2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.5%YOY มาอยู่ที่ 10.6 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่และพื้นที่เพาะปลูกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย



    ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 จะปรับตัวลดลง 2.8%YOY มาอยู่ที่ 561.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาส่งออกของโรงงานน้ำตาลอื่นๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 3.1% จากฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.0 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากแม้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2024 จากภาวะขาดดุลของน้ำตาลในตลาดโลก

    สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.7%YOY มาอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.4%YOY มาอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ในขณะที่มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.0%YOY จากปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

    อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก และสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด กระทบราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าที่คาด

    ส่วนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะเดียวกัน หากไทยเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในช่วงเปิดหีบ (ธ.ค. 2024 - เม.ย. 2025) ก็อาจทำให้ผลผลิตน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด



    ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระแสความยั่งยืนและเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

    เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง


บทวิเคราะห์โดย ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ SCB EIC


ภาพ: SCB EIC


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ภาพยนตร์ไทย’ กวาดรายได้แซงฮอลลีวูด ปี 67 ครองมาร์เก็ตแชร์ 54% สะท้อนปรากฏการณ์ ‘TOLLYWOOD’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine