SCB สร้าง Robinhood ลุยฟู้ดเดลิเวอรี่ - Forbes Thailand

SCB สร้าง Robinhood ลุยฟู้ดเดลิเวอรี่

ไทยพาณิชย์ ก้าวข้ามอุตสาหกรรมธนาคาร ทุ่มกว่า 100 ล้าน ลุยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ แพลตฟอร์ม “Robinhood” รับพฤติกรรม New Normal ชูมิติใหม่ไม่คิดค่าธรรมเนียมร้านค้า คิดค่าส่งตามจริง ต่อยอดกลยุทธ์ “ตัวเบา” รับมือผลกระทบโควิด-19

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยลงทุนเดลิเวอรี่ แพลตฟอร์มใหม่ ใช้ชื่อว่า “Robinhood” โดยใช้งบกว่า 100 ล้านบาท เพื่อรองรับกับพฤติกรรมปกติแบบใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภคที่หันมาใช้ช่องทางเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มในการสั่งซื้ออาหารเพิ่มมากขึ้น และต้องการช่วยเหลือร้านค้า ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 2 หมื่นร้านค้า โดยแพลตฟอร์มโรบินฮูดจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้า และคิดค่าส่งตามจริง เจ้าของธุรกิจร้านอาหารจะได้รับเงินโอนภายใน 1 ชั่วโมง รวมทั้งธนาคารจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการด้วย สำหรับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) เป็นบริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในอนาคต Robinhood จะไม่ใช่ฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฏาคมนี้ “เราไม่ได้ต้องการออกมาแข่งขันกับใคร แต่ต้องการเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเหลือร้านค้า ผู้ประกอบการ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ และประสบการณ์ใหม่ และความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการ คาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมประมาณ 2 หมื่นร้านค้าในช่วงเปิดตัว และเพิ่มเป็น 4 หมื่นร้านค้าในสิ้นปีนี้” อาทิตย์กล่าว สำหรับวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และเป็นวงกว้าง ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ อุตสาหกรรมธนาคารก็เช่นเดียวกัน ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มองไปข้างหน้า และเตรียมองค์กรให้พร้อมที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว รองรับพฤติกรรมปกติแบบใหม่ (New Normal) ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตครั้งนี้ สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากมีมาตรการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการพักหนี้ และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ลูกค้ากว่า 1 แสนราย วงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว ในส่วนของ SCB ยังได้ปรับองค์กรเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยการทำ Digital Tranformation ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา “วิกฤตโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่ง SCB ยึดกลยุทธ์ “ตัวเบา” ในการทำให้องค์กรมีต้นทุนที่ต่ำลง และจะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการสำหรับลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเช่นเดียวกัน โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ที่มี Core Value ที่ความคล่องตัว ทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า” อาทิตย์กล่าว ทั้งนี้ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา SCB ได้มีนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ WFH โดยที่สำนักงานใหญ่ WFH ถึง 90% แต่ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแนวโน้มธนาคารยังคงยึดนโยบาย WFH ต่อไป และอาจจะพัฒนาเป็นวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ SCB work from anywhere ที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ที่มีความคล่องตัว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว อาทิตย์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เชื่อว่ายังไม่จบ และกว่าเศรษฐกิจจะกลับแข็งแรงแบบที่เคยเป็นมา คงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ธนาคารจึงใช้ช่วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านยุทธศาสตร์ “SCB New Normal” ซึ่งมาจากรากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การปรับต้นทุนการให้บริการ และแนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผลประกอบการในปีนี้ รายได้มีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น การให้สินเชื่อโดยรวมไม่เพิ่มขึ้น มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ในช่วงที่ผ่านมา จึงหันมาขอสินเชื่อกับธนาคารแทน โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่การตั้งสำรองหนี้เสียใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรก โดยไตรมาส 1 ปี 2563 SCB มีกำไร 9,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีรายได้รวม 37,641  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% อ่านเพิ่มเติม: “ดาต้าเซ็นเตอร์” กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine