เปิดวิสัยทัศน์ ‘ณะรงค์ศักดิ์’ ซีอีโอใหม่ PTTGC เดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps Plus เร่งปรับพอร์ตธุรกิจ - Forbes Thailand

เปิดวิสัยทัศน์ ‘ณะรงค์ศักดิ์’ ซีอีโอใหม่ PTTGC เดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps Plus เร่งปรับพอร์ตธุรกิจ

ในเดือน พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซีอีโอใหม่ของ PTTGC อย่าง ‘ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์’ ขึ้นรับตำแหน่งอย่างป็นทางการ ล่าสุดจึงออกมาเปิดวิสัยทัศน์การปรับองค์กรให้แข็งแรงพร้อมฝ่าปัจจัยท้าทายระดับโลก ผ่านกลยุทธ์ 3 Steps Plus เร่งพัฒนามาบตาพุด ขยายธุรกิจใหม่ และเชื่อว่าโครงการใหม่ทั้ง allnex นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัท ตั้งเป้าหมายปี 73 ธุรกิจมูลค่าสูงจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของ EBITDA รวม


    นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า เมื่อเป็นบริษัทที่มีธุรกิจทั่วโลก ทำให้ความท้าทายมีหลายด้านทั้งกำลังการผลิตที่ล้นตลาดจากผู้ผลิตในต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำ หรือภาวะเศรษฐกิจในยุโรป จีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ไปจนถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้นเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ จะเดินหน้าสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ได้แก่ Step Change - Step Out - Step Up

    อย่างแรก Step Change ที่จะใช้ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และการรักษาฐานทางธุรกิจที่เป็นจุดแข็งเดิมของ PTTGC ขณะที่ Step Out การสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ จะมุ่งขยายตลาดเคมีภัณฑ์ผ่าน allnex บริษัทลูกของ GC (ถือหุ้น 100%)

    นอกจากนี้คือ Step Up หรือการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้กรอบของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) พร้อมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Target) ภายในปี 2593 โดยจะร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ทั้งในการศึกษาเรื่อง Carbon Capture Technology ผ่านการลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) และการศึกษาโอกาสในการนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ (Blue/Green Hydrogen) ไปใช้และพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

    ขณะที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นสิ่งที่ PTTGC พัฒนามาตลอด 30 ปี จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มศักยภาพและกลายเป็น Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะผันมาสู่กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ (HIgh Value & Low Carbon Business) ซึ่งจะขยายธุรกิจผ่าน allnex ที่มีโรงงานและฐานธุรกิจสารเคลือบผิว (Coating Resins) อยู่ 34 แห่งทั่วโลก โดยมีฐานการผลิต (Hub) ทั้งในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน โรงงาน Mahad รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย และจะต่อยอดพัฒนาในมาบตาพุด ประเทศไทย เพื่อเป็น Hub ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ในตลาดเคลือบผิวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่

    - ยานยนต์
    - อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์
    - บรรจุภัณฑ์
    - โลหะอุตสาหกรรม
    - เฟอร์นิเจอร์
    - การตกแต่งเคลือบผิวอาคารแบบพิเศษ (Special Decoration)

    นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ Bio และ Green กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตโพลิแลกติกแอซิด (PLA) แห่งใหม่ ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Bio Complex – NBC) ร่วมมือกับ NatureWorks ผู้ผลิตไบโอพลาสติกประเภท PLA ระดับโลก โดย GC ถือหุ้น 50% ร่วมกับ Cargill มีกำหนดการแล้วเสร็จในปลายปี 2568 (น่าจะเริ่มมีรายได้ในปี 2569) PLA เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ เช่น แคปซูลกาแฟ ถุงชา และ วัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบหลักคือน้ำตาลจากอ้อย

    “ธุรกิจที่จะเป็นเรือธงของ PTTGC ในอนาคต คือ ธุรกิจ allnex และไบโอคอมเพล็กซ์ที่นครสวรรค์” ณะรงค์ศักดิ์ กล่าว

    ที่สำคัญคือ ทาง GC ตั้งเป้าหมายว่า จากธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง หรือ Specialty Chemicals เหล่านี้คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 30% ของ EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ในปี 2573 จากปัจจุบันซึ่งรวม allnex แล้วอยู่ราว 20%

    อย่างไรก็ตาม ปี 2567 นี้ แนวโน้มรายได้ของ GC คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนต่อลง ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ราว 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังเห็นแนวโน้มที่ดีจาก กำลังการผลิตที่สูงขึ้นในไตรมาส 1/2567

    ในไตรมาส 2/67 คาดว่า allnex และธุรกิจโรงกลั่นยังเติบโต แต่ธุรกิจโอเลฟินส์ยังมีความท้าทาย นอกจากนี้บริษัทเตรียมบันทึกกำไรพิเศษจากการขายคืนหุ้นกู้มูลค่า 750 ล้านบาทในไตรมาส 2/67 ด้วย 

    อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ทางอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยท้าทายสูง บริษัทฯ ยังเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนต้นทุนทางการเงินคาดว่าในปี 2567 นี้จะลดภาระดอกเบี้ยราว 1,000 ล้านบาท มาจากการลดหนี้โดยซื้อคืนหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ: ในเดือน พ.ค. ยังมีการแต่งตั้ง นายทศพร บุณยพิพัฒน์ รับตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ (President) 

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC




เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : OR เปิดคาเฟ่ อเมซอน 2 สาขาที่ ‘ปีนัง’ เดินหน้าขยายอีก 11 สาขาในมาเลเซียปีนี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine