PIER ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 อาจช่วย ‘เฉพาะหน้า’ กสิกรฯ เผยกระทบธุรกิจต้นทุนเพิ่ม 6% - Forbes Thailand

PIER ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 อาจช่วย ‘เฉพาะหน้า’ กสิกรฯ เผยกระทบธุรกิจต้นทุนเพิ่ม 6%

แม้ปี 2567 นี้รัฐบาลมีนโยบายจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งหมายถึงค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น 16% จากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน (345 บาท/วัน) แต่ภาคเอกชนอย่าง กกร. ได้ส่งหนังสือคัดค้านในเรื่องนี้แล้ว ขณะที่หลายฝ่ายยังกังวลว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น มาลองอ่านมุมมองของนักวิเคราะห์ว่าหากมีการขึ้นค่าแรง 400 บาทในเดือน ต.ค. นี้จะส่งผลดีและผลกระทบต่อใครบ้าง?


เปิดรายงาน PIER เผยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 อาจช่วยแรงงานแค่ ‘เฉพาะหน้า’

    สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เปิดเผยบทความหัวข้อ ‘หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน: กระทบใคร และกระทบอย่างไร ภาพค่าจ้างจริงจากข้อมูลประกันสังคม’ โดยระบุว่า ผลกระทบโดยตรงนั้น จะเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นของกลุ่มลูกจ้างที่เคยได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการ 60% หรือประมาณ 25,000 ราย

    ขณะเดียวกัน อาจมีผลกระทบทางอ้อมถึงลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ธุรกิจบางรายอาจจำเป็นต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่น ๆ ในบริษัทให้สูงขึ้นตามกันไปด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงผลิตภาพ หรือความสามารถที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น หากเดิมเคยมีลูกจ้างอยู่สามกลุ่มและได้เงินเดือน 8,000 บาท 10,400 บาท และ 15,000 บาท ตามระดับความสามารถ หากปรับเงินเดือนของลูกจ้างกลุ่มที่เคยได้ต่ำที่สุดขึ้นมาก็น่าจะมีความจำเป็นที่ต้องปรับค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่นขึ้นด้วยเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

    ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ การเงิน ที่ผู้ประกอบการเกิน 60% ไม่ได้มีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน (10,400 บาทต่อเดือน)

    โดยภาคธุรกิจกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า คือ กลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร สิ่งทอ ยาง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีลูกจ้างบางส่วน (หรือทั้งหมด) ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน


    อย่างไรก็ตาม ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายด้าน โดยค่าจ้างที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีการเติบโตมากนักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีช่วงที่ค่าจ้างของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่มักมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก และหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าของแรงงานในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

    แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบในมิติอื่นๆ เช่น ธุรกิจขนาดเล็กอาจจะปิดตัวลง และแรงงานมีการโยกย้ายจากธุรกิจขนาดเล็กไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ หรือหากรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจจะส่งผลในวงกว้างได้เช่นกัน อาทิ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลงและกลับกลายเป็นว่าไปลดประสิทธิภาพของภาษีซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อีกประเภทหนึ่ง หรือหากไปลดอัตราสมทบของกองทุนประกันสังคม ก็จะส่งผลต่อสถานะของกองทุนฯ ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องความยั่งยืนอยู่

    ดังนั้น ชุดนโยบายที่จะมาแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ควรจะมีการมองรอบด้านและแก้ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยาวไปพร้อม ๆ กัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผลกระทบต้นทุนธุรกิจ - เงินเฟ้อเพิ่ม เงินเข้าต่างด้าวทำใช้จ่ายในประเทศไม่โต

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป โดยการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ (ไตรภาคี) ซึ่งล่าสุด (14 พ.ค.67) มีมติมอบคณะอนุกรรมการจังหวัดแต่ละพื้นที่เสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัดและกิจการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2567 นี้

    ในด้านค่าแรงขัั้นต่ำของไทย หากย้อนดูในอดีตจะพบว่า ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ในปี 2567 นี้ หากมีการขึ้นค่าแรง 400 บาทในเดือน ต.ค. จะถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างพร้อมกันทั่วประเทศครั้งที่ 2 ของไทย และจะเป็นครั้งที่ 3 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างนับตั้งแต่ต้นปี 2567

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือนต.ค. 2567 พบว่า ภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6% (คำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด)
หากแยกตามธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่นๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 8-14% ซึ่งสูงกว่าภาคธุรกิจเฉลี่ย

    ขณะที่กิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีระดับแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ 330-370 บาทต่อวัน (จากการปรับทั้งประเทศครั้งล่าสุด 1 ม.ค. 2567) ส่งผลให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ประกอบการอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่


    ขณะเดียวกัน คาดหากขึ้นค่าแรงฯ จริงอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในภาพรวมปี 2567 ที่ราว 0.1% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นคงจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงอยู่แต่เดิม

    แต่ยังพบว่า แม้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจมีไม่มากนัก เพราะค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และแรงงานในประเทศที่อิงค่าแรงขั้นต่ำมีสัดส่วนเป็นแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีแนวโน้มโอนเงินค่าจ้างที่ได้รับกลับไปยังประเทศตนเองราว 30-40% ของรายได้ต่อเดือน จึงทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศปีนี้มากนัก



Photo by Norbert Braun on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธปท. รับกังวลหนี้เสียรายย่อยเพิ่ม - SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จับตาหนี้ครัวเรือน Q1/67 ต่ำ 91% เหตุ GDP สูงกว่าคาด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine