รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บมจ. สินมั่นคงประกันภัย
ทั้งนี้ ทางคปภ. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้
เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บมจ. สินมั่นคงประกันภัย มีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ดังปรากฏข้อเท็จจริง ตามที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (บริษัทฯ) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี
แต่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ สามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทฯ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด บริษัทฯ จึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
คณะกรรมการ คปภ. จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566
นอกจากนี้ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป
ทั้งนี้ หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบมจ. สินมั่นคงประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
คปภ. ยังระบุว่าการการเพิกถอนใบอนุญาตฯ ของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายใน จึงไม่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน สภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น รวมถึงธุรกิจประกันภัยในภาพรวม โดย สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว โดยแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี (กองทุนฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้กรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอน)
- ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบมจ. สินมั่นคงประกันภัย ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ทั้งนี้ทางกองทุนประกันวินาศภัยจะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 61/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ดังนั้น เจ้าหนี้ของบริษัท ต้องติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คปภ. ชนะคดี ‘สินมั่นคงฯ’ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้าน หลังออกคำสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ COVID-19
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine