สรุป ‘สินมั่นคงประกันภัย’ มีหนี้มากแค่ไหน ทำไมเจ้าหนี้กังวลว่า กปว. จะใช้เวลาจ่ายคืนถึง 80 ปี - Forbes Thailand

สรุป ‘สินมั่นคงประกันภัย’ มีหนี้มากแค่ไหน ทำไมเจ้าหนี้กังวลว่า กปว. จะใช้เวลาจ่ายคืนถึง 80 ปี

หลังจากประกันภัย COVID-19 ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาชนต่างจับตามอง ล่าสุดเพิ่งมีการเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของ ‘สินมั่นคงฯ’ ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เอาประกันภัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ซื้อประกันไปต่างกลายเป็น ‘เจ้าหนี้’ ที่ต้องไปติดตามเงินจาก กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ซึ่งจะเป็นผู้ชำระบัญชี หรือจัดการสะสางในการจ่ายค่าเคลม (ค่าสินไหม) แทน


    แต่ปัญหาใหญ่กว่าที่ประชาชนต่างกังวลคือ เงินในมือกปว. ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อเจ้าหนี้เก่าอยู่แล้ว (กรณีบริษัทประกันวินาศภัยที่ล้มละลายไปก่อนหน้า) รวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อ หากมีเคสสินมั่นคงประกันภัยเข้าไปด้วย สถานการณ์จะเป็นอย่างไร


สินมั่งคงฯ มีหนี้มากแค่ไหน?

    นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ณ 31 พ.ค. 2567 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินรวม 33,271.26 ล้านบาท มาจากหนี้สินรวมกว่า 38,056.34 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมเพียง 4,785.08 ล้านบาท (ณ 9 ก.ค. 67 มีสินทรัพย์สภาพคล่อง (ราคาบัญชี) รวม 2,228.28 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินสดและเงินฝากธนาคารที่ 1,419.12 ล้านบาท)

    ถ้าเจาะลึกลงไปในข้อมูลสินไหมค้างจ่าย หรือเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยจะพบว่า บมจ.บมจ. สินมั่นคงประกันภัย มีสินไหมค้างจ่ายรวม 32,184.83 ล้านบาท จำนวนเคลมที่ 484,204 ล้านบาท แบ่งเป็น

    - สินไหมค้างจ่าย COVID-19 อยู่ที่ 30,124.47 ล้านบาท จำนวนเคลมที่ 356,661 เคลม

    - สินไหมค้างจ่ายอื่น Non-COVID-19 อยู่ที่ 2,060.36 ล้านบาท จำนวนเคลมที่ 127,543 เคลม
(ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2567)


    โดยมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 366,458 กรมธรรม์ และประเภทอื่น 423,019 กรมธรรม์

    จากปัญหาหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และปัญหาฐานะการเงิน เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทาง คปภ. เพิกถอนใบอนุญาตฯ ของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย และเมื่อเพกถอนแล้วจะมี กปว. เป็นผู้ชำระบัญชี (จะจ่ายเคลมให้ตามเงื่อนไขของกองทุนฯ)

    สิ่งที่คปภ. เริ่มทำแล้ว คือ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งช่องทางสายด่วน คปภ. 1186 และอื่นๆ รวมถึงให้เจ้าหนี้สามารถลงทะเบียนออนไลน์ในการยื่นขอรับคำชำระหนี้ผ่าน กปว.ได้


เงินกองทุน กปว. เพียงพอจ่ายเคลมเจ้าหนี้ไหม?

    นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวว่า กรณีของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ถือว่าเป็นบริษัทใหญ่ จะทำให้งานของ กปว. เพิ่มมากขึ้น มากกว่า 4 บริษัทเดิมที่คงค้างอยู่ที่กปว.

    ทั้งนี้ กรณีของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย มีเจ้าหนี้รวม 500,000 ราย แต่ยังมีหนี้สินอีก 40,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเคสอื่นๆ ที่คงค้างอยู่ทาง กปว. มีเจ้าหนี้รวม 1.2-1.3 ล้านราย มีหนี้สินรวม 80,000 - 90,000 ล้านบาท

    “ที่จริงเรามีกองเงินกองทุนฯ อยู่ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท ผมเข้ามาดูกองทุนช่วงนั้น ประชาชนเดือดร้อนจากหนี้เกือบ 50,000 ล้านบาท ผมจ่ายไปหมดเลย ณ ขณะนี้เราคล่องจริงๆ เราก็รอเงินสมทบเข้ากองทุนปีละ 2 ครั้ง คือ ม.ค. และ ก.ค. เดี๋ยวเดือน ส.ค. นี้เงินเข้ามาเราก็จะจ่ายออกหมดเลย แต่เรารอมาตรการอื่นๆ ” นายชนะพล กล่าว

    นอกจากนี้ยังระบุว่า “ส่วนเรื่องระยะเวลา ถ้าเงินรายได้เราประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี มีหนี้อยู่เท่านี้ เราก็บวกลบคูณหารแล้วบอกหนี้เดิม (ใช้เวลา) ก็ 40 ปี เดี๋ยวเข้ามาอีกเท่าตัวหนึ่งเอาคูณ 2 เป็น 80 ปี อันนี้เข้าใจว่า เราก็พูดกันทั่วๆ ไปแต่ผมเชื่อว่าภาครัฐคงจะไม่รอถึงขนาดนั้น เพียงแต่เรากำลังปรึกษาหารือกันอยู่ว่า หาวิธีการที่เหมาะสม”

    นอกจากนี้ในส่วนของกรมธรรม์บมจ.สินมั่นคงที่ยังมีผลบังคับอยู่เกือบ 800,000 กรมธรรม์ ตรงนี้เองมีบริษัทประกันวินาศภัยรับช่วงต่อไปแล้ว แต่เนื่องด้วย กปว. ในฐานะผู้ชำระบัญชี เราจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ทั้งหมด จะเหลือมากน้อยเท่าไรก็ตาม โดยจะบอกเลิกกรมธรรม์ในระยะ 30 วันซึ่งจะสิ้นความคุ้มครองในวันที่ 8 ก.ย. 2567 ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. (ตั้งแต่ 8.30 น.) จะเปิดรับคำทวงหนี้จากประชาชน โดยจะเปิดช่องทางออนไลน์

    ภายในงานแถลงข่าวมีการสอบถามถึงการเพิ่มเงินสมทบจาก บริษัทประกันวินาศภัยไทย เพื่อมาช่วย กปว. ด้าน ชูฉัตร เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาลงลึกถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งหากจะทำได้ต้องมีการแก้กฎหมายเพิ่มเติม


สมาคมประกันวินาศภัย เปิด 2 ทางเลือกให้ คนซื้อประกันสินมั่นคงฯ​

    ในส่วนของคนที่ยังมีประกันกับ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย และยังไม่ครบระยะเวลานั้น นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ พร้อมช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ที่กรมธรรมยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครอง ใน 2 ทางเลือก ได้แก่

    1. สามารถติดต่อเพื่อรับเงินเบี้ยประกันภัยคืนเฉพาะระยะเวลาที่เหลืออยู่จากกองทุนประกันวินาศภัย หรือ สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและจังหวัดทั่วประเทศ

    2. ติดต่อซื้อประกันภัยกับ 9 บริษัทฯ ที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะนำเบี้ยประกันภัยคงเหลือ (ตามระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์) ไปใช้แทนเงินสดในการชำระเบี้ยประกันฯ ใหม่ที่บริษัทฯ แห่งใหม่ออกมาแทน

    ทั้งนี้ 9 บริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1) บมจ. กรุงเทพประกันภัย 2) บมจ. กรุงไทยพานิชประกันภัย 3) บมจ. ทิพยประกันภัย 4) บมจ. ธนชาตประกันภัย 5) บมจ. นวกิจประกันภัย 6) บมจ. ไทยวิวัฒน์ประกันภัย 7) บมจ. มิตรแท้ประกันภัย 8) บมจ. วิริยะประกันภัย 9) บมจ. เออร์โกประกันภัย

    สุดท้ายนี้ เมื่อ กปว. ยังหวังให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อาจต้องติดตามว่า ทั้งภาครัฐ และภาคประกันวินาศภัยจะรับมือกับกรณีที่ประชาชนไม่สามารถเคลมได้ตามสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ อย่างไร



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ‘สินมั่นคง’ คปภ.ตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine