New Normal, More Money กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ระดมสมองสู่วิถีชีวิตใหม่กับการเงินที่มั่นคง - Forbes Thailand

New Normal, More Money กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ระดมสมองสู่วิถีชีวิตใหม่กับการเงินที่มั่นคง

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ระดมสุดยอดกูรูจากแวดวงธุรกิจ ผู้บริหารและยูทูบเบอร์ดังด้านการบริหารเงินร่วมเผยเคล็ดลับฝ่าวิกฤตโควิด-19 และมรสุมเศรษฐกิจยุค New Normal

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มุ่งประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ บริษัทเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารการเงิน และมีวินัยทางการเงินที่ดีสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา และวัยเริ่มทำงาน ด้วยการจัดโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ ซึ่งมุ่งเน้นทำแคมเปญการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์โดยใช้โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ฉลาดคิด ฉลาดใช้’ เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการตระหนักรู้ พร้อมจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 “กิจกรรมที่ผ่านมา เช่น การสัมมนาให้ความรู้ด้านบริหารการเงินส่วนบุคคล การเวิร์คช็อปสร้างรายได้เสริม กิจกรรมโรดโชว์ให้ความรู้เรื่องบริหารการเงินกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จนมาถึงซีรี่ส์ไลฟ์สตรีมมิ่งล่าสุดใน รายการ  นิว นอร์มอล, มอร์   มันนี่ วิถีชีวิตใหม่กับการเงินที่มั่นคง” ขณะที่กิจกรรมล่าสุดของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ฉลาดคิด ฉลาดใช้” ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง โดยเชิญผู้บริหาร กูรูจากแวดวงธุรกิจ หรือยูทูบเบอร์ชื่อดังเปิดเผยเคล็ดลับการสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และการใช้เงินอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างโอกาสในยุค New Normal  ให้กับผู้ที่สนใจ พร้อมสานต่อโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ด้วยแคมเปญการสื่อสารที่มุ่งให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลในรูปแบบใหม่ที่เพิ่มความน่าสนใจ และความทันสมัยให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เริ่มต้นจาก รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์และเจ้าของเพจมิชชั่น ทู เดอะ มูน ได้ให้ข้อคิดในการบริหารการเงินขององค์กรเป็นคาถาฝ่าวิกฤตการเงินสำหรับองค์กรธุรกิจในยุคนิว นอร์มอล 2 ข้อ ได้แก่ การรักษาสภาพคล่องทางการเงินขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดสมดุล 3 ปัจจัยให้สอดคล้องกัน ประกอบด้วย การรักษากระแสเงินสด (Cashflow) การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory) รวมทั้งการสื่อสารกับลูกค้าและธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรให้ความสำคัญติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าก่อนจะเกิดปัญหาจะลุกลาม นอกจากนั้น คาถาฝ่าวิกฤตการเงินสำคัญยังอยู่ที่การใช้เทคนิค “ตัวเบา” โดยองค์กรที่มีทรัพย์สินจำนวนมากควรลดการถือครองทรัพย์สินให้มากที่สุดเพื่อลดภาระและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รวมถึงช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัว และสามารถปรับตัวรับวิกฤติต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งทุกคนในองค์กรควรเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ด้วยการพัฒนาทักษะอยู่เสมอ พร้อมแนะ 3 คุณสมบัติ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ และไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวให้ทันเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไปจาก ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของธุรกิจแพนกวิน อีท ชาบู เล่าถึงแนวคิดในการพลิกธุรกิจในยุคโควิด-19 ให้กลับมายืนใหม่ได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง ด้วยการสร้างความแตกต่างและสร้างคาแรกเตอร์แบรนด์ให้ชัดเจน ทั้งยังมุ่งสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆได้ “ตั้งแต่ผมเริ่มทำร้านเพนกวินอีทชาบู ผมตั้งใจแต่แรกเลยว่าช่องทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจจะเน้นไปที่สื่อออนไลน์เป็นหลักโดยมุ่งไปที่การใช้เฟซบุ๊ก ช่วงที่ผ่านมา หน้าร้านต้องปิดบริการ ช่องทางเดียวที่เราสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็คือสื่อออนไลน์ สิ่งที่ผมทำ คือ การเริ่มคิดคอนเทนต์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากแบรนด์อื่น เพราะผมมองว่า ‘อะไรที่ธรรมดา โลกไม่จำ’ เราจึงต้องคิดให้แตกต่าง และเริ่มสร้างคาแรกเตอร์ของแบรนด์ให้ชัดเจน และมุ่งเน้นการสื่อสารไปที่ช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมประคองธุรกิจให้อยู่ในยุคโควิด-19”  ธนพันธ์ย้ำความสำคัญในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ส่วนการบริหารการเงินส่วนบุคคล โดย จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือโค้ชหนุ่ม เจ้าของเพจเดอะ มันนี่ โค้ช ได้แนะนำเทคนิคการวางแผนการเงินให้อยู่รอดและกลับมามั่นคงสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การวางเป้าหมายทางการเงินให้ชัดเจน การลงมือทำด้วยการนำเป้าหมายที่วางไว้เขียนลงกระดาษเพื่อให้เห็นจำนวนเงินที่สามารถใช้จ่ายได้และจำนวนเงินออมหรือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้เห็นผลลัพธ์ทางการเงินที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณผ่านการลงทุนเพื่อให้สามารถเกษียณอายุการทำงานได้อย่างมั่งคั่งและมั่นคง “ที่สำคัญผมมองว่าการบริหารการเงินในยุค นิว นอร์มอลนี้ สิ่งที่ทุกคนควรมีมากที่สุด คงจะเป็น สติ เราต้องมีความละเอียดรอบคอบในการใช้จ่ายควบคู่ไปกับการหาแหล่งรายได้ที่มากกว่าทางเดียว พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีการวางแผนการเงินเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพราะการวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยกันเราจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางไปยังชีวิตในอนาคต” จักพงษ์กล่าว ขณะที่ผู้ที่ต้องการเพิ่มรายได้ผ่านการทำการตลาดออนไลน์สามารถศึกษาเทคนิคของ เภสัชกรหญิงโสภา พิมพ์สิริพานิชย์ เจ้าของแบรนด์ผ้าพันคอโซอี้ สคาร์ฟ และเจ้าของเพจโซอี้ดิจิทัล ช็อตคัท : การตลาดออนไลน์ ซึ่งแนะนำถึงพื้นฐานการขายสินค้าออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างการรับรู้ที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อโฆษณา เช่น การแชร์โพสต์ไปยังหน้าเพจร้านหรือไปยังกลุ่มต่างๆ ก่อนจะใช้ขั้นตอนต่อมาในการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ด้วยการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอภายใต้หลัก “พูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง ทำในสิ่งที่เขาอยากเห็น เขียนในสิ่งที่เขาอยากอ่าน” หลังจากนั้น ผู้ติดตามจะเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อได้ในขั้นตอนการกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ด้วยการจัดกิจกรรมทางการตลาด เช่น การจัดโปรโมชั่นเพื่อให้เกิดการตัดสินใจทันที และปิดท้ายด้วยขั้นตอนการซื้อสินค้าแบบสะดวกรวดเร็ว โดยแนะนำให้ส่งเลขที่บัญชีในรูปแบบของข้อความแทนรูปภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถคัดลอกเลขบัญชีใส่ในโมบายแบงกิ้งได้ทันที และช่วยให้สามารถปิดการขายได้ง่ายหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เฟซบุ๊กไลฟ์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ฉลาดคิด ฉลาดใช้” ยังคงให้คำแนะนำในด้านการบริหารการเงินจากกูรูในแวดวงธุรกิจและยูทูบเบอร์ที่มีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตหรือบริหารทางเงินที่น่าสนใจร่วมพูดคุยในรายการและตอบคำถามเป็นประจำทุกอาทิตย์ เช่น ธริศร ธรณวิกรัย เจ้าของเพจบูม ธริศ อัมพาพันธุ์ คำคุณ  เจ้าของเพจแม่จ๋าๆ พามาตาไปเที่ยวหน่อย ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจแทกซ์ บักหนอม ศิวัตม์ สิงหสุตกร เจ้าของเพจวางแผนการเงินกับอิน ซู แรงเกอร์ อนุพงศ์ ชัยยะราษฎร์ เจ้าของเพจไม้แบด มันนี่ และไม้แบด คอนโด เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: 6 วิธีคิดปลดล็อก PMO พาองค์กรสู่ Agile Transformation