กว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งการหยุดชะงักจากการรัฐประหารซ้ำซ้อน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปจนถึงสถานการณ์น้ำท่วม และภัยธรรมชาติ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจช้าลงเรื่อยๆ แต่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร๊ฐยังมีรายจ่ายมหาศาลที่ใช้เพื่อดูแลประชาชน และทำให้ทุกอย่างยังเดินหน้าไปได้
ดังนั้นท่ามกลางความไม่แน่นอน และความท้าทายที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องเร่งเครื่องฝั่งรายได้ให้ทันกับการใช้จ่าย ผ่านการปรับแผนปฏิรูปภาษี เห็นได้จากกระแสข่าวที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ที่ถูกพับไปแล้ว) ไปจนถึงแนวคิดระบบภาษีแบบใหม่อย่าง Negative Income Tax
ทำไมไทยต้องปฏิรูปภาษี
จากปัญหาดั้งเดิมของไทยที่สะสมมาหลายปี รวมถึงเป้าหมายหลักของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้แนวคิดการ ‘ปฏิรูปภาษี’ จากภาครัฐเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือเมื่อปลายปี 2567 มีข่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% มาสู่ระดับ 10% เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ แต่แผนนี้ก็ถูกพับไปเพราะประชาชนออกมาถกเถียงในประเด็นนี้กันมากมาย
แม้ข่าวการขึ้น VAT จะซาไป แต่การ ‘ปฏิรูปภาษี’ ยังต้องเกิดขึ้น ฝั่ง เมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เล่าว่า โครงสร้างรายรับของรัฐบาลไทยดูจะแย่ลง สะท้อนจากเมื่อ 10 ปีก่อนรายได้ของภาครัฐอยู่ที่ 18-19% ต่อ GDP แต่ทุกวันนี้รายได้ของภาครัฐลดลงเหลืออยู่ 14-15% ของ GDP กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้บ้าง แต่รายได้ของรัฐกลับจัดเก็บได้น้อยลง
ขณะเดียวกันฝั่งรายจ่ายของภาครัฐพบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ราว 20% ต่อ GDP แต่ปัจจุบันรายจ่ายฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การขาดดุลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาสู่ระดับ 4% (จากช่วงก่อนหน้าอยู่ราว 2%)
“ในอนาคต ถ้าเราไม่ได้มีการทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะขาดดุลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นัยยะที่จะเกิดขึ้นจากภาพนี้คือ รัฐบาลต้องนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เรื่องเกี่ยวกับภาษี รายจ่ายของภาครัฐจะต้องปฏิรูปกันสักที” เมธัส กล่าว
แน่นอนว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว แต่ความท้าทายหลักส่วนหนึ่งอาจเพราะไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มาก ทำให้รัฐติดตาม และวางแผนจัดเก็บภาษียากขึ้นไปด้วย ดังนั้นจึงมีแนวคิดหนึ่งที่ช่วยให้คนไหลเข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้นซึ่งคลังก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ในชื่อ “Negative Income Tax”
Negative Income Tax คืออะไร?
ทุกวันนี้แนวคิดการเก็บภาษีเงินได้ คือ ถ้าใครมีรายได้สูงเข้าเงื่อนไขของรัฐก็ต้องเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันไทยใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันได ยิ่งมีรายได้มากก็เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นไปด้วย แต่ Negative Income Tax หรือ NIT จะเหมือนขั้วตรงข้ามคือ ถ้าใครมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รัฐจะให้เงินช่วยเหลือตามอัตราที่กำหนดไว้เช่นกัน
ด้าน ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เล่าถึง Negative Income Tax หรือ NIT ว่าเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และเป็นการรวมระบบการหารายได้และการให้ความช่วยเหลือไว้ในระบบเดียว โดย NIT มีการปรับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการและสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ กรณีศึกษาในต่างประเทศ ได้แก่
- กรณีออสเตรเลีย นำ NIT มาใช้ในรูปแบบภาษีสำหรับครอบครัว (Family Tax Benefit: FTB) เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตร โดยจะตรวจสอบทั้งรายได้สุทธิ จำนวนและอายุบุตร ระยะเวลาที่ใช้ในการดูแลบุตร การนำบุตรไปรับวัคซีนตามกำหนด โดยกรณีนี้อาจสะท้อนถึงข้อสังเกตว่าการตั้งเงี่อนไขที่ซับซ้อนอาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการช่วยเหลือของประชาชน
- กรณีสหรัฐฯ มีโครงการ Earned Income Tax Credit (EITC) ที่ให้เครดิตภาษีคืนตามการมีบุตร ทำให้สัดส่วนคนจนของครัวเรือนที่ไม่สมรสและมีสมาชิกที่เป็นเด็ก 3 คน ลดลงถึง 20.2% ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่สมรสและไม่มีเด็ก ลดลงเพียง 1.5%
- กรณีสิงคโปร์ มีโครงการ Workfare Income Supplement หรือ WIS (รูปแบบคือ รัฐบาลจะให้เงินโอนแก่ลูกจ้างในรูปของเงินโอนและเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ซึ่งประเมินคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ WIS จากรายได้รวมต่อเดือน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าล่วงเวลา โบนัส และค่าคอมมิชชั่น จึงส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งลดการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิม ซึ่งสะท้อนว่าแม้ NIT จะมีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยทำงาน แต่เงื่อนไขบางประการอาจลดแรงจูงใจในการทำงานเพิ่ม
จากการศึกษาพบว่าประเทศที่สามารถนำ NIT มาประยุกต์ใช้และยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบต่ำ อาทิ ประเทศสวีเดนที่มีสัดส่วนเพียง 3.3% ขณะที่ประเทศที่เคยนำ NIT มาประยุกต์ใช้แต่ปัจจุบันยกเลิก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ที่เล่าถึงผลการศึกษาการใช้ NIT ในหลายประเทศเช่น, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร, อิสราเอล, เกาหลีใต้, สวีเดน, แคนาดา ฯลฯ
ก่อนไทยจะเริ่ม Negative Income Tax ต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง?
ระบบ NIT มีข้อดีหลายด้านทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้มากขึ้น (แบบตรงคน) หรือตามทฤษฎีแล้วหากไทยเริ่มใช้ NIT อาจทำให้คนสนใจเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งในอนาคตเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ รายได้เพิ่มขึ้นถึงเกณฑ์เสียภาษีก็จะต้องแสดงรายได้ต่อรัฐเช่นกัน
แต่หากไทยจะริเริ่มระบบ NIT สภาพัฒน์ ยังระบุถึง 3 เรื่องหลักที่รัฐต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะนำมาปรับใช้ ได้แก่
1) การกำหนดวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย
2) การกำหนดเกณฑ์รายได้และระดับการช่วยเหลือให้มีความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถกำหนดเกณฑ์รายได้ที่สามารถจูงใจให้คนทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการทบทวนเกณฑ์เป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
3) การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการ NIT และศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและภาระทางการคลัง อาทิ การพิจารณายกเลิกบางมาตรการที่มีความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ โดยรวมการช่วยเหลือเป็นระบบเดียว ควบคู่ไปกับการดึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เข้าระบบภาษี พร้อมกับกำหนดบทลงโทษและบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแรงจูงใจในการกระทำผิด (Moral hazard)
ดังนั้น ประชาชนอาจต้องติดตามกันว่าหาก Negative Income Tax จะเริ่มใช้ในไทยจะมีรูปแบบ เงื่อนไข และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์เป็นกลุ่มใด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลมีแผนจะลดรายได้ของตนเองลง จะต้องมีแผนจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมจากส่วนอื่นๆ เพื่อชดเชยกันตามมา…
ภาพ: สภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง, Evan Krause on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC ประเมิน ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ คลี่คลายช้า แนะทางออกแก้อย่างไรให้ยั่งยืน และตรงกลุ่ม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine