โครงการ NDID บัตรประชาชนตัวตนดิจิทัลไทยจะเริ่มใช้ในปีนี้ นำร่องที่วงการการเงิน - Forbes Thailand

โครงการ NDID บัตรประชาชนตัวตนดิจิทัลไทยจะเริ่มใช้ในปีนี้ นำร่องที่วงการการเงิน

เอกชนไม่รอรัฐ ลงขัน 100 ล้านบาทจัด โครงการ NDID ผูกเลขบัตรประชาชนคนไทยเข้ากับข้อมูลดิจิทัล นำร่องในวงการการเงิน เปิดทดลองฟังก์ชันเปิดบัญชีธนาคารผ่านแอปฯ มือถือภายในปีนี้ หวังช่วยลดเวลาและความยุ่งยากในการทำธุรกรรม

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยความคืบหน้า โครงการ National Digital ID (NDID) ของประเทศไทยภายในงานเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 1 ว่า หลังจากเริ่มต้นพูดคุยถึงแนวทางการก่อตั้งโครงการมาแล้ว 3 ปี เชื่อว่าปีนี้ชาวไทยจะได้เริ่มทดลองใช้ NDID โดยเริ่มที่วงการการเงินก่อนเป็นกลุ่มธุรกิจแรก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของภาคเอกชน 40-50 บริษัท โดยส่วนใหญ่คือสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) รวมถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ลงขันกันรวมเป็นเม็ดเงินราว 100 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง บริษัท เนชันแนลดิจิทัลไอดี จำกัด สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้การยืนยันตัวบุคคลเมื่อต้องการทำธุรกรรมต่างๆ สามารถทำได้ผ่านระบบดิจิทัล ลดเวลาและความยุ่งยากทั้งของประชาชนและเอกชน “บัตรประชาชนของเราเป็นสมาร์ทการ์ดแล้วแต่การใช้งานต่างๆ ยังต้องนำไปถ่ายเอกสารเป็นหลักฐาน ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดโจรกรรมข้อมูลได้ง่ายมาก ขณะที่เอกชนต้องการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลเช่นนี้ให้ดียิ่งขึ้น และลดเวลาลง นั่นคือไม่ต้องการให้การยืนยันตัวตนทุกครั้งต้องให้ลูกค้าไปที่หน่วยงานเพื่อเจอหน้ากัน จึงเกิดเป็นโครงการนี้” ดร.ภูมิกล่าว โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นเจรจาการนำไปใช้งานจริง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ ผ่านฟังก์ชันการเปิดบัญชีธนาคารของธนาคารทุกแห่งที่อยู่ภายใต้สังกัดสมาคมฯ ในแง่ของผู้ใช้งาน หากมีบัญชีธนาคารแห่งใดก็ได้อยู่แล้ว เพียงสมัครเข้าโครงการ NDID จะสามารถเปิดบัญชีธนาคารแห่งอื่นๆ ได้ผ่านแอปฯ Mobile Banking ของธนาคารที่ต้องการสมัคร โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวที่สาขาและกรอกข้อมูลใหม่ สามารถกดยืนยันให้ธนาคารที่จะสมัครเข้าถึงข้อมูลของตนเองในธนาคารเดิมได้ทันที ส่วนการนำไปใช้งานต่อเนื่องของธุรกรรมอื่นๆ ดร.ภูมิกล่าวว่า กลุ่มธนาคารอาจจะต่อยอดไปใช้กับการสมัครบัตรเครดิต ส่วนกลุ่มโบรกเกอร์หุ้นอาจต่อยอดสู่การเปิดพอร์ตเทรดหุ้น ด้านกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิตยังหารืออยู่ถึงความเป็นไปได้ของการใช้งานเพราะประกันเป็นธุรกิจที่คนไทยยังต้องการพบปะตัวต่อตัวสูง ดร.ภูมิเสริมว่า สำหรับเฟสสองของโครงการ NDID ในแง่เอกชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมและอยู่ระหว่างเจรจานั้นมีอีก 40-50 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟินเทคและโทรคมนาคมรายใหญ่ ส่วนในแง่ของการต่อยอดให้กว้างขึ้น เขามองว่าจะมีการใช้ระบบนี้ยืนยันตัวตนของนิติบุคคลและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคลนั้นๆ รวมไปถึงการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามามี Digital ID ด้วย  

เอกชนรอไม่ได้

สำหรับโครงการที่เกี่ยวพันกับข้อมูลภาครัฐอย่างเลขบัตรประชาชนเช่นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงย่อมเป็นกรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ NDID ได้ติดต่อไปแล้วตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนองที่สอดคล้องกัน โดยกรมการปกครองยังต้องการให้มีการยืนยันตัวตนเจ้าของข้อมูลที่หน่วยงานรัฐตามปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล้วนตอบรับต่อแนวทางการจัดทำ NDID และเนื่องจากกลุ่มเอกชนตั้งต้นเป็นกลุ่มธนาคาร ทำให้แบงก์ชาติรับหน้าที่กำกับดูแลเป็นการชั่วคราว แต่หลังจากนี้จะต้องได้รับการกำกับดูแลจากกระทรวงดิจิทัลฯ เมื่อมีหลายภาคธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย ส่วนหน่วยงานอื่นๆ นั้น ดร.ภูมิกล่าวว่ามีความสนใจเป็นอย่างมากในการนำไปใช้ อาทิ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้การทำธุรกรรมไม่ต้องมาที่หน่วยงานและยืนยันตัวตนจริงได้ชัดเจน แต่ยังต้องหารือกันต่อไป “วิสัยทัศน์ที่เราเห็นในอนาคตคือ กรมการปกครองเป็นผู้ดูแลบัญชีเลขบัตรประชาชนของเราตั้งแต่เกิด และเมื่อประชาชนนำไอดีนี้ไปทำธุรกรรมกับหน่วยงานทุกแห่ง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล จะเกิด record ขึ้น เหมือนเป็นตรายางที่ปั๊มลงในสมุดพกว่ามีร่องรอยความมีตัวตนแต่มองไม่เห็นว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร สิ่งนี้ทำให้การปลอมสวมรอยไอดียากขึ้นเพราะต้องปลอมประวัติทั้งหมดขึ้นมา” ดร.ภูมิกล่าว “ความเสี่ยงก็มีแน่นอน คือเวลามีอะไร pop-up ขึ้นมาบนหน้าจอให้เรายืนยันความถูกต้องต้องไม่ลืมอ่านก่อน มิฉะนั้นอาจจะเป็นการยืนยันตัวให้คนที่พยายามสวมรอยอยู่ก็ได้”