ทำไม Moody’s ปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศไทยเป็น ‘เชิงลบ’ - Forbes Thailand

ทำไม Moody’s ปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศไทยเป็น ‘เชิงลบ’

ช่วงคืน 29 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่อย่าง Moody’s ประกาศปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศไทยเป็น Negative จากเดิมที่เป็น Stable ซึ่งหลายฝ่ายยังจับตาว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเจ้าใหญ่ของโลกค่ายอื่นๆ อย่าง S&P, Fitch Ratings อาจจะปรับลด Outlook ของไทยเช่นกัน


เปิดสาเหตุ Moody’s ปรับลด Outlook ไทย

    เริ่มกันที่ฝั่ง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL สรุปให้ฟังว่า จาการประกาศของ Moody’s ที่ปรับแนวโน้มเครดิตประเทศไทย (Outlook) เป็น Negative (เชิงลบ) จากเดิมที่เป็น Stable (เสถียรภาพ) อาจเป็นการเตือนว่าไทยต้องรีบปรับตัวในหลายด้าน

    ครั้งนี้สาเหตุหลักที่ Moody’s ปรับมุมมองต่อไทย มาจากความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้ เพราะจะเจอผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกรวมถึงไทยที่พึ่งพาต่างประเทศมาก

    ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีปัญหาดั้งเดิมอย่าง ศักยภาพการขยายตัวที่ต่ำลง หลังโควิดยังฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ Moody’s กังวลว่าไทยที่พึ่งพาตลาดสหรัฐในการส่งออก จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาค

    แน่นอนว่าหากไทยเจอผลกระทบรอบใหม่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงกว่า อาจกระทบไปที่สถานะภาคการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ช่วงโควิดให้แย่ลงไปจากเดิม


Rating ประเทศไทยเสี่ยงลดลงแค่ไหน

    Edge by KKP เปิดเผยว่า แม้ Moody’s จะปรับลดแนวโน้มหรือ Outlook ของไทยลงซึ่งอาจสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดเปราะบาง แต่มองว่าการปรับ Outlook ไม่เท่ากับ Moody’s จะปรับ Credit rating ของไทย ทว่าสะท้อนถึงมุมมองว่า ‘มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น’

    ในอดีต ยังพบว่าทั้ง S&P และ Fitch มีการปรับตาม Moody’s หลายครั้ง อย่างในช่วงวิกฤตปี 1997 และ 2008 เมื่อบริษัทฯ ประเมินว่าความเสี่ยงต่อฐานะการคลังมีมากพอ จะมีโอกาสที่ Outlook หรือแม้แต่ rating จะถูกปรับลงได้เช่นกัน และจะกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาล จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก

    ด้าน ดร.กอบศักดิ์ มองว่า จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ Moody’s ยังมีการเตือนว่า Negative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก

    1) เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงกว่าเดิม

    2) ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป จากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทย

    อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป แต่เป็นคำเตือน และสะท้อนว่า ‘มีความเสี่ยง’ เพราะในอดีต ไทยเคยเจอการปรับลด Outlook ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 เป็น Negative โดยหลังจากนั้น 2 ปี ก็ปรับกลับมาเป็น Stable อีกครั้ง ดังนั้นในครั้งนี้ไทยต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงปมปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งที่จำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของไทย


KKP เผยการปรับรอบนี้ Moody’s ไม่รวมแผนกู้เงินเพิ่มฯ ของรัฐบาล

    Edge by KKP เปิดเผยว่า การปรับ Outlook ของ Moody’s เป็นเชิงลบในครั้งนี้เป็นคำเตือนนี้ชัดเจนว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดเปราะบาง” และที่สำคัญกว่านั้นคือ Moody’s ยังไม่ได้ factor in แผนการกู้เงินเพิ่มเติมที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เลย

    แน่นอนว่าแผนการกู้เงินฯ ของไทยย่อมจะเกี่ยวกับนโยบายการคลังของประเทศ ซึ่งไทยมีข้อจำกัด 2 ด้านหลัก 1) ข้อจำกัดด้านงบขาดดุล (ที่ไทยใช้เต็มเพดานไปแล้ว) 2) ข้อจำกัดด้านระดับหนี้สาธารณะที่อาจพุ่งทะลุเพดาน 70% เร็วขึ้นหากมีการกู้เพิ่มฯ (ปัจจุบัน 64%)

    KKP มองว่าแม้ไทยจะต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ต้องมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ถ้านำเงินไปแจก แล้วเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นจะส่งผลให้หนี้ต่อ GDP จะพุ่งเร็วมาก แต่ถ้าใช้เงินไปกับโครงการที่มี Multiplier สูง แม้ส่วนหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ GDP จะปรับขึ้นตาม ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะไม่แย่ลง

    และส่วนสำคัญคือต้องมีแผน "ลดหนี้" ที่น่าเชื่อถือ โดยมองว่า ตลาดและสถาบันจัดอันดับอยากเห็นว่า การกู้ครั้งนี้ (ของไทย) เป็น "การใช้เงินระยะสั้นในยามจำเป็น" และไทยมีแผนชัดเจนที่จะ ลดการขาดดุลในอนาคต ดังนั้นไทยต้องเริ่มปฏิรูปการคลัง อาทิ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น, การลดการรั่วไหล โดยเฉพาะการคอร์รัปขั่น รวมถึงการขยายฐานภาษี (หากจำเป็น) ผ่านการปรับอัตราภาษีบางประเภท

    สุดท้ายนี้ Edge by KKP ยังย้ำการที่ Moody’s ปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศไทย เป็นคำเตือนที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นจังหวะที่ไทยควรทบทวนโยบายการคลังของไทยว่าจะปรับตัว ที่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาความน่าเชื่อถือทางการคลังในระยะยาว



ภาพ: BBL, Honney Artkongharn on UnsplashJay lee on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สรุปมุมมองแบงก์ชาติ กรณีสงครามการค้ากระทบไทย เมื่อ ‘ใจ’ ทรัมป์เปลี่ยนไปมา

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine