คลังเชื่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น! ปรับเป้า GDP ปี 67 เพิ่มเป็น 2.7% ย้ำยังไม่รวมผล Digital Wallet - Forbes Thailand

คลังเชื่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น! ปรับเป้า GDP ปี 67 เพิ่มเป็น 2.7% ย้ำยังไม่รวมผล Digital Wallet

ล่าสุด กระทรวงการคลังปรับเพิ่มเป้าหมาย GDP ปี 2567 เพิ่มเป็น 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ราว 2.4% ผลจากภาคบริการดีขึ้นจากท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ดูดีขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะออกมามากขึ้น ย้ำว่าประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจนี้ยังไม่รวมผลของ Digital wallet


    นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ล่าสุดมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย โดยปี 2567 นี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนหน้า (เม.ย. 67) ที่อยู่ราว 2.4% สาเหตุเพราะ 3 ปัจจัย ได้แก่

    1) การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.2%

    2) จำนวนและรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ

    3) การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567

    อย่างไรก็ตาม GDP ปี 2567 ที่ 2.7% นี้ยังไม่ได้นับรวมผลจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ซึ่งเบื้องต้นเคยประเมินไว้ว่า โครงการ Digital Wallet จะส่งผลต่อ GDP ราว 1.2 - 1.8% ตลอดทั้งโครงการฯ แต่ผลลัพธ์จะได้มากน้อยเพียงใดยังขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิเป็นสำคัญ


    ส่วนทั้งปี 2567 นี้ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.1 - 1.1%) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้ม ที่จะเกินดุล 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP

    ทั้งนี้ ในส่วนไตรมาส 2 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน คาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 36 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็น 47,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 60 วัน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง

    ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.0 - 5.0%) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.1 - 4.1%) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 - 3.2%) ขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2 แล้ว และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6 - 3.6%) โดยเฉพาะสินค้าทุนที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


    ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่

    1) การใช้จ่ายภาครัฐ ที่ต้องเร่งรัดในทุกหน่วยงาน

    2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

    3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว

    ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่

    1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น เช่น ความขัดแย้งอิสราเอล - อิหร่านที่อาจทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น นโยบายการค้า สหรัฐ - จีน ข้อพิพาททะเลจีนใต้จีน - รัสเซีย เป็นต้น

    2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก

    3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ต้องจับตาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนั้น

    4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

    5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รัฐหนุน SME ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ต่อปี วงเงิน 1 แสนล้าน ผ่านออมสินและ 16 ธนาคาร กู้ได้ถึงสิ้นปี 68

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine