กระทรวงการคลังคงเป้าหมายประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัว 2.7% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและการส่งออก ส่วนปี 68 เชื่อว่าจะขยายตัวถึง 3% ด้วยแรงส่งท่องเที่ยว-ส่งออก-บริโภคภาคเอกชน-การลงทุนภาครัฐและเอกชน แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงทั้ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และน้ำท่วม
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2567 ยังได้รับแรงสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัว แต่การบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 -3.2%) ถือว่าคงที่จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า โดยเชื่อว่าจะผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีอีกด้วย
ทั้งนี้ ปี 2567 คาดว่าไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 36.0 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.1 ถึง 5.1%) เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน แม้จะเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าผลมาตรการของรัฐจะส่งผลดีต่อประชาชน
ด้านการส่งออกปี 2567 คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 2.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.4-3.4%) เพราะเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 มาจากโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.1% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.6%) และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.3-1.3%)
อย่างไรก็ดี ปี 2567 นี้ประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัวที่ 1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ - 2.4 ถึง -1.4%) เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือโดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ -0.1 ถึง 0.9%) ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 3.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5%) โดยมีปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ
- การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.4-3.4%)
- การส่งออกสินค้า จะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6-3.6%)
- การท่องเที่ยว จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างอยู่ที่ 39.0 ล้านคน
- การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.2-5.2%) และการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.8-2.8%)
นอกจากนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.7-2.7%) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5%) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.2-2.2% ของ GDP)
อย่างไรก็ตาม การประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 และ 2568 ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทย และปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่
1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว รวมถึงการขยายบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ BRICS และการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CRINK (จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาในเรื่องระเบียบโลกใหม่
2) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
3) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
4) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
5) ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด
Photo by Tanawin Wichit on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Gogolook เจ้าของแอป Whoscall ปักธงไทยเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ขยายโซลูชันสำหรับธุรกิจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine