คลังปรับลด GDP ปี 67 เหลือ 2.4% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% ชี้แจงเหตุกระทบ 4 ปัจจัย - Forbes Thailand

คลังปรับลด GDP ปี 67 เหลือ 2.4% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% ชี้แจงเหตุกระทบ 4 ปัจจัย

กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.4% จากการประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดไว้ราว 2.8% สาเหตุเพราะ 1.การส่งออกหดตัวกว่าที่คาด 2. การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว 3. ภาคการเกษตรเจอผลกระทบจากภัยแล้ง-เอลนีโญ และ 4. ภาคการคลังยังใช้งบปี 66 แต่ยังหวังท่องเที่ยวพยุงเศรษฐกิจไทย


    นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ถือว่ายังสูงกว่าปี 2566 ที่อยู่ 1.9% โดยปีนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 35.7 ล้านคน และคาดว่านโยบายการคลังที่ออกมาช่วงที่เหลือของปีจะช่วยประคองเศรษฐกิจไว้

    ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวปี 2567 ที่ฟื้นตัวดีจะส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังเปิดเผยประมาณการอื่นๆ ได้แก่
    - การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.2-4.2%)
    - การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0%)
    - การส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.8-2.8%) ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง
    - มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9%)

    อย่างไรก็ตาม การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จากเดิมที่ 2.8% (เมื่อ ม.ค. 67) มาสู่ระดับ 2.4% เนื่องจาก 4 ปัจจัย ได้แก่
    1) การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
    2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
    3) ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ
    4) ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน

    ขณะที่ ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.1-1.1%) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP

    นอกจากนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ 3.3% ต่อปี (กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567)

    อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่
    1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

    2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

    3) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์




ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels: https://www.pexels.com/th-th/photo/302769/



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาณิชย์เผยส่งออกไทย มี.ค. 67 ‘ติดลบ’ 10.9%YoY ในรอบ 8 เดือน เหตุโลกไม่แน่นอน-ฐานเดิมสูง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazineine