การพัฒนาด้านดิจิทัลถือเป็นแผนงานหลักที่รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร ให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งล่าสุดจะนำมาใช้ในการกู้เงินหรือระดมทุนจากประชาชนผ่าน โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ Government Token: G-Token
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า วันนี้ (13 พ.ค. 68) คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. .... เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ G-Token
ทั้งนี้ G-Token จะนำมาใช้เพื่อการกู้เงินฯ ตามงบประมาณ โดยเฉพาะพันธบัตรออมทรัพย์เดิมบางส่วน ซึ่งโทเคนนี้ออกภายใต้ประกาศกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 ที่บอกว่า การกู้เงินของรัฐบาลให้ทำเป็นตราสารหนี้หรือกู้วิธีอื่นใดตามที่ครม. มีมติอนุมัติ
“สิ่งที่เราเสนอครม.วันนี้ ไม่ใช่เงินตรามันเป็นการกู้เงิน เพราะฉะนั้นย้ำนะครับเป็นการกู้เงิน ประเด็นที่ 2 คือมันไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี่ ไม่ใช่ BITCOIN ประเด็นหลักอีกอันนึงก็คือการระดมทุน การกู้เงินอันนี้เป็นการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณปกติไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการกู้เงินเป็นพิเศษ” พชรกล่าว
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่า G-Token จะไม่ใช่ตราสารหนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับเงินตรา และไม่สามารถเอาไปซื้อของใดๆ ได้ทั้งสิ้น จะแตกต่างจากปกติจากปกติที่รัฐบาลจะออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ออกตั๋วเงินคลัง ไปจนถึงพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งโดยรวมจะเรียกตราสาราหนี้ตามกฎหมายหนี้สาธารณะ ดังนั้น G-Token จะมาเป็นช่องทางใหม่เป็นการระดมทุนแบบใหม่เพื่อจุดอ่อนเดิมของการออกพันธบัตรออมทรัพย์
“การขายพันธบัตร หรือกู้เงินตรงจากประชาชนจะเป็นวิธีที่เทียบเคียงกับวิธีใหม่นี้ ( G-Token)” พชรกล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่า G-Token จะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง รุ่นเด็ก รุ่นเรียนจบ กำลังเริ่มต้นทำงาน อีกทั้ง G-Token สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้เสมอ กรณีเกิดอะไรขึ้นสามารหยุดได้ทันที แล้วกลับไปสู่จุดเริ่มต้นได้ มองว่าโปร่งใส นอกจากนี้สบน. ได้กำหนดคุณลักษณะของ G-Token ให้ยังสามารถซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) จากเดิมที่ใช้เวลามากกว่า 7 วัน จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนมือผ่านระบบใหม่นี้จะสามารถทำได้เร็วขึ้น
ในด้านต้นทุน สบน. ประเมินว่าจะต้นทุนในการกู้เงินที่ถูกลง และทำให้องค์ประกอบเหล่านี้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุดแก่ผู้ถือครอง รวมถึงการเปลี่ยนมือ
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดอื่นๆ จะต้องทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะเป็นหน่วยงานที่กำกับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากนี้ ก.ล.ต. ต้องกำหนดรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สบน. ได้กำหนดแผนการเสนอขาย G-Token ให้กับประชาชนครั้งแรกภายในปีงบประมาณ 2568 โดยเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ผลตอบแทนของ G-Token จะเบิกจ่ายจากงบชำระหนี้ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับเครื่องมือระดมทุนอื่นๆ ของ สบน.
Photo by Rubaitul Azad on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก.ล.ต. ยกระดับมาตรการสกัดบัญชีม้าคริปโต ชี้ผู้ให้บริการฯ ต้องร่วมรับผิดชอบ เร่งเครื่องการคัดกรอง-ปิดกั้นแพลตฟอร์มต่างชาติ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine