กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกไทยเดือน มิ.ย. 67 อยู่ที่ 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.3%YoY สาเหตุจากเป็นช่วงปลายฤดูเลยส่งออกผลไม้น้อยลง แต่ยังมองบวกเพราะดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน ส่วนภาพรวมส่งออกไทยครึ่งปีแรก 67 ยังโต 2.0% ช่วงที่เหลือยังต่อจับตาความเสี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3%YoY
ทั้งนี้ ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน ในเดือน มิ.ย. 2567 เกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในเดือน มิ.ย. 2567 มีข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่
- มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.3%YoY กลับมาหดตัวในรอบ
3 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 2.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4.8% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน
- มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.3%YoY ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 13.5% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเดือนก่อนหน้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และอื่นๆ
ในเดือน มิ.ย. 67 ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยตลาดหลัก หดตัว 1.3% ตามการหดตัวของการส่งออกไปตลาดจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ส่วนตลาดรอง ยังขยายตัว 2.5% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา แต่ตลาดที่หดตัว เช่น ตลาดทวีปออสเตรเลีย รัสเซียและกลุ่ม CIS สหราชอาณาจักร
ขณะที่ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.0%YoY (เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.1%YoY) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.0%YoY ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังเชื่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น! ปรับเป้า GDP ปี 67 เพิ่มเป็น 2.7% ย้ำยังไม่รวมผล Digital Wallet
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine