ช่วงที่ผ่านมา กระแส Art Toy เฟื่องฟูไปทั่วไทย โดยเฉพาะของเล่นแนวกลุ่มสุ่มอย่าง Labubu จากร้าน Pop Mart ที่ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนต่างต้องหามาเก็บสะสม จนตอนนี้เห็นกล่องสุ่มของเล่นมากมายหลายประเภท แต่กระแสนี้กับภาคธุรกิจ เราเห็นภาพการเติบโตอย่างไรบ้าง
กระแส ‘Art Toy - Kidult’ จากของเล่นสู่ของสะสม
หลายปีมานี้ หลายคนอาจเห็นเทรนด์ Art Toy โมเดลคาแรกเตอร์ต่างๆ ที่ออกแบบมาโดยศิลปิน หรือนักวาด ได้ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะในวงการมูเตลูที่นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปรับคาแรกเตอร์ให้เข้าถึงง่าย หรือ การสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมา และหากเป็นตัว Secret ราคาอาจที่ทะยานสูงกว่าราคาเปิดตัวอย่างมาก
กลยุทธ์ของ Art Toy ที่บางส่วนจะมาในลักษณะกล่องสุ่ม (ให้ผู้ซื้อได้ลุ้นว่าจะได้รับตัวไหน) อาจเรียกได้ว่า เป็นการทำการตลาดจาก ‘การจำกัดจำนวน’ และ ‘ความสนุก’ จากที่ผู้ซื้อจะได้ลุ้นว่า จะได้รับตัว Secret หรือไม่ ที่สำคัญอาจเห็นได้ว่า Influencer มีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นให้คนอยากมีไว้ครอบครอง
ช่วง เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นเทรนด์ Labubu และสินค้ากล่องสุ่มจาก Pop Mart ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากที่ ลิซ่า วง Blackpink ยังเก็บสะสม Labubu อยู่เช่นกัน ดังนั้นเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก จนมีคำว่า ‘Kidult’ ที่ผสมจาก Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่) ขึ้นมา
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ของเล่น’ ที่เดิมผู้ใหญ่เป็นคนซื้อให้เด็ก แต่ตอนนี้เมื่อกลุ่มเป้าหมายกลายเป็นผู้ใหญ่ซื้อสะสมเอง ยิ่งทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
ธุรกิจไซส์เล็กแต่สามารถครองตลาดใหญ่ได้
ข้อมูลจากกองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ‘ธุรกิจของเล่น’ โดดเด่นขึ้นทั้งกลุ่มผลิต (เช่น การผลิตของเล่นที่มีล้อ การผลิตตุ๊กตา และเกมต่างๆ) และกลุ่มขายส่ง/ขายปลีก โดยในประเทศไทยมีนิติบุคคลในประเทศไทย 1,093 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 5,692.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2566 ธุรกิจขนาดเล็กในธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้กว่า 19,677.21 ล้านบาท ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังระบุว่า มีนักลงทุนฮ่องกง จีน และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในบริษัทไทยด้านนี้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ธุรกิจของเล่นไทยยังสามารถผลิต และส่งออกเพื่อขายในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776.24 ล้านบาท
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลที่น่าสังเกตคือ ธุรกิจขนาดเล็ก (S) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด จำนวน 1,024 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของ SME ในธุรกิจของเล่นที่ยังเปิดกว้างให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาลงทุนช่วงชิงตลาด โดยจำนวนนี้เป็นกลุ่มขายมากถึง 804 ราย และผลิต 220 ราย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่าตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ธุรกิจของเล่นในไทยเลือกเปิดบริษัทแบบไหน ปี 2567 เพิ่มขึ้นเท่าไร
แม้ช่วง COVID-19 ธุรกิจของเล่นจะเผชิญปัญหายอดขายตกลงเช่นกัน แต่ตอนนี้มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ในช่วงปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้น 49 ราย (+69.01%) จากปี 2565 ด้านมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.52% จากปี 65 ขณะที่หากดูรายได้พบว่าอยู่ที่ 19,677.21 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 467.62 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปี 2566 ที่มีกำไร 175.07 ล้านบาท (ปี 2565 ที่มีกำไรอยู่ที่ 83.58 ล้านบาท และปี 2564 ขาดทุน 42.25 ล้านบาท)
ขณะที่ ปี 2567 นี้การจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ค.) มีจำนวน 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการผลิต 50 ราย และกลุ่มขาย 7 ราย โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ในภาพรวมมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 67 ล้านบาท (แบ่งเป็นกลุ่มผลิต 56 ล้านบาท และกลุ่มขาย 11 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจของเล่น มีมูลค่าการลงทุนในไทยทั้งหมด 10,068.04 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ คือ ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 989.37 ล้านบาท จีน มูลค่าการลงทุน 784.16 ล้านบาท และญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 541.81 ล้านบาท
หากเจาะลึกธุรกิจของเล่นในปัจจุบันข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในไทยมีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นในรูปแบบนิติบุคคลจำนวน 1,093 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็น
- กลุ่มการผลิต 238 ราย ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 2,909.61 ล้านบาท
- กลุ่มการขาย 855 ราย) ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 2,782.60 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูตามประเภทการจดทะเบียน แบ่งเป็น
1) บริษัทจำกัดจำนวน 935 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,517.15 ล้านบาท ได้แก่
- กลุ่มการผลิต 209 ราย ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 2,843.11 ล้านบาท
- กลุ่มการขาย 726 ราย ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 2,674.04 ล้านบาท
2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 158 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 175.06 ล้านบาท ได้แก่
- กลุ่มการผลิต 29 ราย ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 66.50 ล้านบาท
- กลุ่มการขาย 129 ราย ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 108.56ล้านบาท
ธุรกิจของเล่น ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่อาจอยู่ในกลุ่มเด็ก และผู้ชื่นชอบเฉพาะกลุ่ม เช่น ฟิกเกอร์ ตัวการตูน หรือของสะสมต่างๆ แต่ด้วยกระแสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้คนจำนวนมากหันเข้ามาสู่วงการ Art Toy ดังนั้นอาจต้องติดตามว่า กระแสนี้จะยาวนานแค่ไหน และจะมีของเล่นใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันอย่างต่อเนื่องหรือไม่
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Wang Ning มหาเศรษฐีพันล้าน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรของเล่นรายใหญ่ในจีน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine