กระทรวงพาณิชย์เปิดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมพบว่าเพิ่มขึ้น 0.83% หลังจากราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนทั้งปี 67 นี้ยังคาดการณ์ที่เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบระหว่าง 0.0 – 1.0%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 108.71 สูงขึ้น 0.83% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 (YoY) สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก มีรายละเอียดดังนี้
- หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.27% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป, กลุ่มผลไม้สด, กลุ่มข้าว, แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง, กลุ่มผักสด, กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม, กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร
ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า น้ำมันพืช มะนาว กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น
- หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.50% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน
ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู สบู่ถูตัว ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.52%YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.36%YoY
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2567 สูงขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้สด และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.62%YoY ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
ส่วนช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) ปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยสูงขึ้น 0.11%ช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2567 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่
1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
2) ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3) ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
4) ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนสิงหาคม 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ณ 30 ก.ค. 2567)
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
2) ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
3) ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Black Monday ตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก ย้อนรอยต้นเหตุเมื่อ 37 ปีก่อนสู่ '5 ส.ค. 67' ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine