พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จาก ‘ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ผักสด’ ยังสูง - Forbes Thailand

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จาก ‘ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ผักสด’ ยังสูง

กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% สาเหตุเพราะค่าไฟฟ้า น้ำมัน ผักสด ยังเพิ่มขึ้น ย้ำเดือน มิ.ย. เงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง เพราะยังมีการต่ออายุมาตรการลดค่าไฟฟ้า ราคาผักอาจลดลง ที่สำคัญเศรษฐกิจยังโตต่ำทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้ยาก ตามการแข่งขันที่ยังสูง


    นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน พ.ค. 2567 เท่ากับ 108.84 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีปัจจัยหลัก คือ

    - ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า มาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ที่สูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก

    - ราคาผักสด และไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่น้อยลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน

    - ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

    ทั้งนี้ เดือน พ.ค. 67 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.54%YoY มาจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
    - หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.13% มาจากกการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด เช่น ผักสด ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และไข่เป็ด กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับเพิ่มขึ้น และยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม เป็นต้น

    - หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.84% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล กลุ่มยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น


    อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในเดือน พ.ค. 67 ยังสูงขึ้น 0.39%YoY เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือน เม.ย. 2567 ที่สูงขึ้น 0.37%YoY

    ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค. 2567 สูงขึ้น 0.63% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.37% ปรับสูงขึ้นตามราคาผักสด ไข่ไก่ เนื้อสุกร และผลไม้สด ขณะที่ มะนาว ข้าวสารเจ้า ส้มเขียวหวาน และนมเปรี้ยว ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.09% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) และสารกำจัดแมลง เป็นต้น

    ขณะที่ ภาพรวม 5 เดือนแรกปี 2567 พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 0.13%YoY

    ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 2567 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยมีสาเหตุสำคัญจาก

    1) ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง
    2) การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค. – ส.ค. 2567)
    3) ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ
    4) การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย

    ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่

    1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งปรับมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 
    2) ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0 - 1.0 (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือน พ.ค. 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน (ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566) และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 (ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.1 จากระดับ 44.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 56.8 สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นโดยรวม คาดว่ามาจาก

    1) ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ 

    2) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น

    3) ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ราคาพลังงานและค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง

    ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน เม.ย. 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น 0.19%YoY ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับมหาเศรษฐีญี่ปุ่น ประจำปี 2024

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine