กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน 67 พบว่าการส่งออกยังขยายตัว 1.1% ต่อเนี่องเป็นเดือนที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 3.9% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (889,074 ล้านบาท) ขยายตัว 1.1% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 3.1% การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้
ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสำคัญยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2567 การนำเข้า มีมูลค่า 25,589.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า เกินดุล 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 3.9% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 229,132.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,956.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.4% ส่วน การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.8%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวโดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรปที่อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ภาพรวมการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ มีดังนี้
- ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 12.5%
- ตลาดจีน ขยายตัว 0.03%
- ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 7.3%
- ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 8.0%
- ตลาดอาเซียน (5) หดตัว 0.3%
- ตลาด CLMV ขยายตัว 9.1%
- ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 9.1%
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 6.5%
- ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 3.3%
- ตลาดแอฟริกา หดตัว 1.3%
- ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 11.8%
- ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 6.2%
- ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัว 5.8%
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะทำได้ตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี นอกจากนี้ แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีโอไอ อนุมัติ ‘คอนติเนนทอล’ ลงทุนเพิ่ม 13,000 ล้านบาท ขยายโรงงานผลิตยางรถยนต์ใน ‘ระยอง’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine