พาณิชย์เผย ส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ 17.8 แต่ต้องยอมรับว่า อาจเป็นการเร่งส่งออกเพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะประการเพิ่มภาษีนำเข้า
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (988,362 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ 17.8 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 การส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 13.8
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 988,362 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 967,608 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.2 ดุลการค้า เกินดุล 20,755 ล้านบาท
ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 2,757,249 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,754,544 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ดุลการค้า เกินดุล 2,705 ล้านบาท
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.1 (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 5.7 กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน เช่น ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ฯลฯ
ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.2
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 23.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ
ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 19.4
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว จากการเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการประกาศภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีผลเดือน เม.ย. โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากความต้องการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน เร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 17.3 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 34.3 จีน ร้อยละ 22.2 ญี่ปุ่น ร้อยละ 1.5 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 4.0 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.2 และ CLMV ร้อยละ 10.1
(2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.2 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.2 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 25.1 แอฟริกา ร้อยละ 3.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 11.5 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 59.5 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 7.7 แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 11.4
(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 232.6
- ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 34.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 25.4 ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติก ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 19.5
- ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.5 (กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และทองแดงและของทำด้วยทองแดง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 0.1
- ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 4.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 7.2
- ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 13.2 (กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำตาลทราย เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 5.7
- ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 10.1 (กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และผ้าผืน ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 4.7
- ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 9.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และทองแดงและของทำด้วยทองแดง ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 78.3
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 11.4 (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 หดตัวร้อยละ 15.4
- ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 25.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และยางพารา ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 10.5
- ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 3.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 7.6
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ซีอีโอ LINE MAN Wongnai มองกรณี foodpanda ปิดตัว ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทยจะแข่งขันแบบ Duopoly
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine