ช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าการส่งออกไทยปีนี้อาจจะชะลอลง ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดเดือน เม.ย. 67 นี้พบว่าการส่งออกของไทย พลิกกลับเป็นบวก จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 10.9%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. 2567 อยู่ที่ 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 834,018 ล้านบาท) ขยายตัว 6.8%YoY หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.4%YoY ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.3%YoY โดยดุลการค้าขาดดุล 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่การส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 2.0%YoY กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน แต่สินค้าเกษตรยังหดตัว 3.8% ซึ่งกลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-9.6%) น้ำตาลทราย (-9.1%) ฯลฯ
ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+91.5%) ยางพารา (+36.2%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+14.8%) ฯลฯ
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.2%YoY กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+20.4%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+62.0%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+58.8%) ฯลฯ
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-5.7%) แผงวงจรไฟฟ้า (-9.2%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-15.9%)
ทั้งนี้ ภาพรวม 4 เดือนแรก (ม.ค. - เม.ย.) ปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.4%YoY การนำเข้า มีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9%YoY ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
- มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.8%
- มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 1.8%
ด้านตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณ
การขยายตัวของภาคการผลิตโลก โดย 4 เดือนแรกปี 2567 มีตลาดหลักที่ยังขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ (+13.4%) สหภาพยุโรป 27 (+6.3%) CLMV (+6.2%) เอเชียใต้ (+0.5%) ทวีปออสเตรเลีย (+21.3%) ลาตินอเมริกา (+6.3%) รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS (+19.3%)
แต่ตลาดส่งออกหลักที่ยังหดตัว ได้แก่ จีน (-6.0%) ญี่ปุ่น (-8.0%) อาเซียน 5 (-3.3%) ตะวันออกกลาง (-0.6%) แอฟริกา (-7.7%) สหราชอาณาจักร (-17.2%)
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังสามารถเติบโตได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ
ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
Image by mrsiraphol on Freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาอุตฯ เปิดยอดขายรถยนต์ไทย เม.ย. ร่วง 21.49% เหตุเศรษฐกิจชะลอ - สินเชื่อกู้ยาก หวังรัฐออกมาตรการกระตุ้นซื้อรถ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine