รู้จัก MAGURO เครือร้านอาหารญี่ปุ่นที่รายได้ 1,000 ล้าน และจะเข้า IPO ใน mai 5 มิ.ย. นี้! - Forbes Thailand

รู้จัก MAGURO เครือร้านอาหารญี่ปุ่นที่รายได้ 1,000 ล้าน และจะเข้า IPO ใน mai 5 มิ.ย. นี้!

ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีหลักแสนร้าน แต่จะมีกี่ร้านที่รายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทภายใน 9 ปี Forbes Thailand ได้สรุปข้อมูลของ ‘MAGURO’ เครือร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีที่ปัจจุบันมี 26 สาขา แต่รายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งล่าสุดเตรียมจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 5 มิ.ย. 67 นี้


    จุดเริ่มต้นของ บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAGURO เกิดขึ้นจาก 4 ผู้ก่อตั้งที่ชื่นชอบวัฒนธรรมและอาหารของญี่ปุ่น โดยตั้งใจทำร้านตามปรัชญาที่ว่า “การให้มากกว่าที่ขอ (Give More)” เพื่อให้บริการได้ดีกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้ โดยหนึ่งในนั้นคือเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ที่ควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทด้วย

    ในปี 2558 ได้เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ MAGURO สาขาแรกที่ ชิค รีพลับบิค บางนา โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักในระดับ Premium Mass และต่อมาค่อยๆ ขยายสาขามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2563 ที่การระบาด COVID-19 รุนแรงขึ้นจึงต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มบริการ Delivery ซูชิและอาหารญี่ปุ่น รวมถึงเปิดแบรนด์ใหม่ ‘SSAMTHING TOGETHER’ เป็นเซ็ตปิ้งย่างเกาหลีส่งตรงถึงบ้าน ผ่าน MAGURO GO แพลตฟอร์มให้บริการเดลิเวอรี่


    และเมื่อแบรนด์ใหม่อย่าง SSAMTHING TOGETHER ได้รับการตอบรับอย่างดี ในปี 2564 จึงต่อยอดและเปิดสาขาแรกที่ Mega Bangna (ตอนนั้น ร้าน MAGURO ขยายเปิดสาขาที่ 10 ในศูนย์การค้า Central World) ขณะเดียวกันยังเริ่มใช้ระบบสมาชิก

    แต่เมื่อตลาดยังเติบโต และความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ในปี 2564 จึงขยายสู่แบรนด์ใหม่ HITORI SHABU เป็นร้านชาบูและสุกี้ยากี้สไตล์ญี่ปุ่นสาขาแรกที่ Siam Paragon โดยมีฐานลูกค้ากลุ่ม Premium Mass เช่นเดิม นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่น เช่น MAGURO CATERING ธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ในรูปแบบของ Event Catering และ Office Lunchbox อีกด้วย


‘รายได้ - กำไร’ ของ MAGURO เป็นอย่างไร

    ปัจจุบัน MAGURO มีพนักงานรวม 800 คน จากจำนวนสาขารวม 26 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แบ่งเป็น

1. ร้าน MAGURO (มากุโระ) จำนวน 14 สาขา

2. ร้านปิ้งย่างเกาหลี SSAMTHING TOGETHER (ซัมติง ทูเก็ทเตอร์) จำนวน 6 สาขา

3. ร้านอาหารชาบูสไตล์ญี่ปุ่น HITORI SHABU (ฮิโตริ ชาบู) จำนวน 6 สาขา

    หากพูดถึงฐานลูกค้า อาจดูได้จากระบบสมาชิก (Membership) โดยปี 2566 อยู่ที่ 145,615 ราย เพิ่มขึ้น 69,037 รายในปี 2565 ซึ่งรายได้จากสมาชิกกลุ่มนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนที่ 54.36% ของรายได้ในปี 2566 อีกด้วย

    คราวนี้มาดูภาพรวมรายได้ และกำไรในปี 2564 - 2566 พบว่า
    - ปี 2564 รายได้ 387.61 ล้านบาท กำไร 9.57 ล้านบาท
    - ปี 2565 รายได้ 665.85 ล้านบาท กำไร 31.36 ล้านบาท
    - ปี 2566 รายได้ 1,045.81 ล้านบาท กำไร 72.48 ล้านบาท

    โดยในปี 2566 มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่ 45.17% และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 26.52% ซึ่งยังระบุว่าบริษัทฯ ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ mai จะช่วยให้บริษัทฯ มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตได้ดี


เคาะราคา IPO 15.90 บาท เตรียมเทรด mai วันแรก 5 มิ.ย. 67 ว่าแต่ระดุมทุนเพื่ออะไร?

    MAGURO จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (AGRO) ในราคาหุ้นละ 15.90 บาท และเปิดการซื้อขายวันแรกคือ 5 มิ.ย. 2567 ในชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า "MAGURO"

    เอกฤกษ์ เล่าถึงสาเหตุที่นำ MAGURO เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อระดมทุน และจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ ด้วยการเปิดสาขาใหม่ในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 11 สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งปรับปรุงสาขาเดิม ปรับปรุงครัวกลาง ติดตั้งและปรับปรุงระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการขยายตัวของจำนวนสาขาของบริษัทฯ ในอนาคต รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ ขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ ทาง MAGURO กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ (IPO) จำนวนไม่เกิน 34.06 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 21.46 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.03% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Holistic Impact Pte Ltd จำนวน 12.60 ล้านหุ้น คิดเป็น10.00% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ที่ราคาหุ้นละ 15.90 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 28 - 30 พ.ค. นี้ ผ่านผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่
    - บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
    - บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
    - บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
    - บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)
    - บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด






เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รู้จัก ‘เจ้าสัว’ จากของฝากโคราช สู่แบรนด์ ‘ขนมขบเคี้ยว’ ที่เตรียม IPO

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine