กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) หลังผนึกพันธมิตร CTBC Bank ไต้หวัน เสริมแกร่งสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ประกาศผลประกอบการ ปี 2566 กำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 32.8 LH Bank เติบโตร้อยละ 54.9 เร่งขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาทปีนี้ เน้นกลุ่ม SMEs ศักยภาพสูงเชื่อมโยงการลงทุนอุตสาหกรรมจากไต้หวัน ชู Digital Platform เข้าถึงรายย่อย เดินตามแผนก้าวสู่ธนาคารระดับกลางใน 5 ปี
กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) ที่มี CTBC Bank สถาบันการเงินชั้นนำจากไต้หวันเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานปี 2566 LHFG มีกำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เติบโต ร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,693 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 54.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงิน LHFG ยังคงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.65
ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า LHFG ยังมุ่งมั่นตามแผนการเติบโตก้าวสู่ธนาคารขนาดกลางภายใน 5 ปี
โดยเน้นการเติบโตผ่านการขยายฐานลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและ SMEs ผ่านช่องทางดิจิทัล และพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมจากไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB ที่ปัจจุบัน กว่าร้อยละ 80 ของบริษัท PCB จากไต้หวัน ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ปัจจุบันนักลงทุนจากไต้หวัน ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีการลงทุนสูงสุดในประเทศไทย โดยคาดว่าปีนี้จะขยายพอร์ตสินเชื่อจากนักลงทุนไต้หวันอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
ขยายพอร์ตสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน
สำหรับผลการดำเนินงานของ LHFG ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 8,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปี 2565 เป็นสัดส่วนรายได้จาก LH Bank ร้อยละ 84 บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LHS) ร้อยละ 6 บริษัทจัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LH Fund) ร้อยละ 4 และร้อยละ 6 จาก LHFG ขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 จากปี 2565 โดยเป็นสัดส่วนกำไรจาก LH Bank ถึงร้อยละ 81 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 69
ดร.สุวัฒน์ ชิตามระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และนวัตกรรม กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีสำหรับ LH Bank จากการขยายตัวของสินเชื่อ ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักก็ขยายตัวร้อยละ 15.9 ขณะที่ตลาดสินเชื่อโดยรวมไม่ขยายตัว ทำให้มีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น
ในปีนี้จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อไปในกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาด รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มุ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งการจับมือกับพันธมิตร เช่น กลุ่มบีทีเอส และมุ่งขยายฐานลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยี ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และแอปพลิเคชั่น ที่จะทำให้ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ภาพรวมตลาดสินเชื่อและเงินฝากโดยรวมในปีที่ผ่านมา ไม่ขยายตัว แต่ LH Bank เติบโตจากการกระจายตัวของฐานลูกค้า ซึ่งทิศทางในปีนี้จะเพิ่มพอร์ตลูกค้า SMEs มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้เครื่องมือดิจิทัลในการวิเคราะห์ และออกแบบสินเชื่อที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยง โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท และยอด NPL อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 3%” ดร.สุวัฒน์กล่าว
เดินแผนสู่ธนาคารขนาดกลางใน 5 ปี
ฉี ชิง-ฟู่ กล่าวว่า LHFG ยังมุ่งสู่แผนการเติบโตระยะ 5 ปี ก้าวสู่การเป็นธนาคารขนาดกลาง ซึ่งจากอัตราการเติบโตแบบธรรมชาติ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่มุ่งขยายฐานลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการจับมือกับพันธมิตร เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย มีรายได้เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปัจจุบัน และมีฐานลูกค้า 1 ล้านรายภายในปี 2573
และเน้นเพิ่มบริการผ่าน Mobile จากสัดส่วนร้อยละ 60 ในปีนี้ เป็นร้อยละ 80 ในปี 2571 เพื่อตอกย้ำความเป็นดิจิทัล แบงกิ้ง ของกลุ่ม LHFG รวมทั้งมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยวางเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงร้อยละ 25 และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับลูกค้า คาดว่าจะมีสัดส่วนร้อยละ 10 ภายในปี 2573
สำหรับปี 2567 นี้ ธนาคารยังคงเดินตามแผนเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนการเติบโตผ่านการขยายฐานลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและ SMEs ผ่านช่องทางดิจิทัล พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกระบวนใหม่โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินการหลัก ได้แก่
- มุ่งเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านการจัดการด้านอัตราดอกเบี้ย และการจัดการต้นทุนเงินให้มีประสิทธิภาพ การเพิ่มฐานลูกค้า SME โดยการทำ Program Lending & Package Solution ที่ออกแบบสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม
พร้อมปรับกระบวนการทำงาน เพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบริการและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การให้คำปรึกษาทางการเงินและทางธุรกิจกับ SME เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
และขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Refinance โดยตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 20 รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wealth ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์ประกันที่ออกแบบพิเศษสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
- ยกระดับบริการทางการเงินผ่าน Digital Platform การพัฒนาแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์
- การให้ความสำคัญกับ Sustainable Banking เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งจากการดำเนินของธุรกิจธนาคารเอง และของลูกค้าที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคาร (Financed Emission) การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจก (Transition Loan) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล
เพิ่มกองทุนใหม่ๆ รองรับลูกค้ากลุ่ม Wealth
ด้าน มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่าปี 2567 กลยุทธ์ของบริษัทมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลการดำเนินงานในกองทุนตราสารทุนไทยและต่างประเทศให้เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะบริหารกองทุนรวมให้อยู่ใน Top Quartiles และนำเสนอข้อมูลกองทุนที่เหมาะสมและทันต่อสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการแบบครบวงจรสำหรับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และจัดให้มีการให้ความรู้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REITs บริษัทมีเป้าหมายการบริหารจัดการกองทุนให้เติบโต และการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ รวมทั้งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขยายธุรกิจในส่วนของ REIT Trustee
ผลการดำเนินงานการบริหารจัดการกองทุนปี 2566 บริษัทมีขนาดกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการนับรวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มีมูลค่าประมาณ 61,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2565 ซึ่งเติบโตมาจากการเพิ่มทุนในกลุ่ม REITs และยังคงมีแนวโน้มเติบโต อย่างต่อเนื่อง สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 14,245 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.1 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุนอยู่ที่ 7,047 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 16.6
ด้านผลการดำเนินงานของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Securities) ในปี 2566 มีรายได้ 541.35 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ส่วนกลยุทธ์ปี 2567 บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งด้านระบบเทคโนโลยีและด้านการให้คำแนะนำการลงทุน และมุ่งเติบโตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ของลูกค้าเดิม การดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการให้บริการที่ครบวงจร รองรับตลาดที่คาดว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCBX บุกสินเชื่อรายย่อยในเวียดนาม ลงนามซื้อกิจการ Home Credit Vietnam มูลค่าลงทุนกว่า 31,000 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine